คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุทยานธรณีขอนแก่น ไปสู่การเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก โดยได้มีการให้บริการวิชาการในการออกแบบกางเกงอุทยานธรณีขอนแก่นที่มีเอกลักษณ์และสะท้อนถึงมรดกทางธรณีของพื้นที่ โดยการออกแบบนี้มุ่งเน้นให้มีความสัมพันธ์กับประเด็นทางธรณีวิทยา วัฒนธรรมท้องถิ่น และความหลากหลายทางชีวภาพ การออกแบบในครั้งนี้มีทีมผู้ออกแบบคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหญิง พงศ์พิมล ที่ปรึกษาทางด้านการออกแบบและพัฒนาแบบ , นางสาวปาณิสรา ผาทอง ผู้ออกแบบผลงานซึ่งเป็นนักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบ และคุณ ผกาสวรรค์ ปรัชญคุปต์ ตำแหน่ง นักผังเมืองชำนาญการ เป็นผู้ประสานงานและให้รายละเอียดข้อมูล
การบริการวิชาการครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญในการตอบสนองข้อแนะนำจากสภาอุทยานธรณีโลก ที่ต้องการให้อุทยานธรณีขอนแก่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์เชื่อมโยงกับลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติภูเวียง เขตอำเภอเวียงเก่า และอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ทีมงานได้นำเสนอแนวคิดการออกแบบที่โดดเด่น 3 รูปแบบ ได้แก่:
“Geo rock” – โดดเด่นด้วยโทนสีของชั้นหินตะกอนกลุ่มหินโคราช ผสานกับองค์ประกอบของไดโนเสาร์ภูเวียงและวิถีชีวิตอีสาน
“Fossilla” – เน้นความสนุกสนานและโดดเด่นของชั้นหินและฟอสซิล สะท้อนความเป็น geo rock อย่างชัดเจน
“Geo-Culture” – นำเสนอวิถีชีวิตของชาวอีสานผสานกับลักษณะทางธรณีวิทยา โดยมีฟอสซิลไดโนเสาร์ซ่อนอยู่ในชั้นภูเขา
จากผลงานการออกแบบทั้งหมด อุทยานธรณีขอนแก่นได้คัดเลือก 2 ลวดลายเพื่อผลิตจำหน่าย ได้แก่ “Geo-Rock” สีน้ำตาล-ส้ม แสดงถึงชั้นหินตะกอนกลุ่มหินโคราช และ “Fossilla” สีน้ำตาลและฟ้าพาสเทล นำเสนอชั้นหินตะกอนและซากฟอสซิล
การให้บริการวิชาการของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์นี้ไม่เพียงช่วยเสริมสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์สำหรับอุทยานธรณีขอนแก่น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานออกแบบที่มีความสำคัญในเชิงการอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรม ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ตรงกับความต้องการของสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการดำเนินงานนี้ถือเป็นการตอบสนองต่อข้อแนะนำของยูเนสโกในการพัฒนาอุทยานธรณีขอนแก่น ซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้และความสนใจในแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว ด้วยเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็นอุทยานธรณีโลกในอนาคต
ข่าว : กรรณภัสส์ สิริเกียรติ
ข้อมูล : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหญิง พงศ์พิมล
ภาพถ่าย : จักริน เงินทอง