COLA ม.ขอนแก่น จัดกิจกรรมนำเสนอโครงงาน “การจัดการขยะเมืองขอนแก่น” เพื่อพัฒนาแนวทางจัดการเมืองสะอาดและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดกิจกรรม “การนำเสนอโครงงานการจัดการขยะเมืองขอนแก่น” โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการการปกครองท้องถิ่น ได้นำเสนอโครงงานการจัดการขยะ ซึ่งเป็นผลจากการลงพื้นที่สำรวจปัญหาขยะจริงในเขตเมืองขอนแก่น และการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ในจังหวัดขอนแก่น กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CL 304408 การวิเคราะห์ข้อมูลและข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Analytics and Big Data) ที่จัดขึ้นภายใต้การดูแลของ ผศ.ดร.กฤษดา ประชุมราศี อาจารย์ผู้สอนหลักของรายวิชา โดยกิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และนำทักษะทางวิชาการมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง พร้อมกับได้รับประสบการณ์การทำงานเป็นทีมในระดับชุมชน

 

งานนำเสนอโครงงานครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีการเข้าร่วมของเจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึง 9 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครขอนแก่น, เทศบาลเมืองศิลา, เทศบาลตำบลบ้านเป็ด, เทศบาลเมืองบ้านทุ่ม, เทศบาลเมืองเก่า, เทศบาลตำบลท่าพระ, เทศบาลตำบลสำราญ, องค์การบริหารส่วนตำบลแดงใหญ่ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ซึ่งนอกจากการนำเสนอโครงงานแล้ว นักศึกษาและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อพัฒนาวิธีการจัดการขยะในท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น

ผศ.ดร.กฤชวรรธน์ โล่วัชรินทร์

รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิจัย และการต่างประเทศ

กิจกรรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.กฤชวรรธน์ โล่วัชรินทร์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิจัย และการต่างประเทศ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น  เป็นประธานเปิดงาน โดยท่านได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาแนวทางการจัดการขยะว่า “การพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืนนั้นไม่สามารถทำได้เพียงลำพังโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง การร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการนำเสนอแนวคิดใหม่จากนักศึกษา คือกุญแจสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนและเมืองของเรา” นอกจากนี้ท่านยังกล่าวเสริมว่า “ผมยินดีที่ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาในการนำเสนอแนวทางการจัดการขยะในพื้นที่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงงานเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองขอนแก่นให้สะอาดและยั่งยืนในอนาคต”

 

ผศ.ดร.กฤษดา ประชุมราศี

อาจารย์ประจำรายวิชา

 

ด้าน ผศ.ดร.กฤษดา ประชุมราศี อาจารย์ประจำรายวิชา ได้กล่าวถึงความสำคัญของการนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่นว่า “โครงการนี้ไม่เพียงแค่เป็นการสร้างความเข้าใจในหลักการจัดการขยะ แต่ยังเป็นการฝึกฝนทักษะการทำงานเป็นทีม การวางแผน และการใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน การแก้ไขปัญหาขยะในท้องถิ่นต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงจะสามารถพัฒนาโครงสร้างการจัดการขยะที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง

กิจกรรมนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้นำทักษะที่เรียนรู้มาปรับใช้ในสถานการณ์จริง พร้อมกับได้รับข้อเสนอแนะและประสบการณ์จากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในฐานะผู้นำชุมชนในอนาคต

 

 

Scroll to Top