มข. ร่วม มช. ระดมสมอง ก้าวสู่มหาวิทยาลัย 4.0 พัฒนาคนทักษะสูง ขับเคลื่อนชาติ สนองนโยบาย วช.

โลกในศตวรรษที่ 21 คือยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างปฏิเสธไม่ได้  ทั้งรวดเร็ว รุนแรง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการศึกษา  ระบบการเรียนการสอนแบบเดิม การพบปะกันในห้องเรียนเป็นประจำ ท่องจำ อ่านสอน หรือกระทั่งการกำหนดหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาให้มีระยะ 4 ปี อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ทำให้บางสถานศึกษาอาจเผชิญกับภาวะ Disruption

จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบหมายให้แผนงานคนไทย 4.0 ริเริ่มโครงการมหาวิทยาลัย 4.0 เพื่อฉายภาพในอนาคตให้มหาวิทยาลัยไทยเริ่มกระบวนการสร้างแผนกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงระยะยาวโดยวิธีการคาดการณ์อนาคต (Strategic foresight) และได้เชิญชวน 3 มหาวิทยาลัยที่มีพันธกิจการก่อตั้งใกล้เคียงกัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยนำร่อง

โครงการมหาวิทยาลัย 4.0 ประกอบด้วย 3 ระยะ  คือ ระยะที่ 1 โครงการนำร่องจัดทำฉากทัศน์และแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง   ระยะที่ 2 โครงการศึกษาดูงานมหาวิทยาลัย National University of Singapore โดยผู้นำ อธิการบดี ผู้บริหารทั้ง 3 สถาบัน ศึกษาดูงานระหว่างวันที่ 20-23 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ ประเทศสิงคโปร์  เพื่อศึกษาความสำเร็จในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ  ระยะที่ 3 คือ โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการองค์กร ระหว่าง อธิการบดีจาก National University of Singapore, Professor Tan Eng Chye และ ผู้บริหารทั้ง 3 มหาวิทยาลัย พร้อมการจัดบรรยายพิเศษ  ณ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ในวันอังคารที่ 17 ตุลาคม 2566  ที่ผ่านมา

 

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยในศตวรรษที่ 21 ส่งผลกระทบกับมหาวิทยาลัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การร่วมมือกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเครือข่ายพันธมิตร ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัย 4.0  โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ  การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เนื่องจากเด็กเกิดใหม่ลดลงทุกปี   การเปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมและทัศนคติของนักศึกษาหรือประชากร มีพฤติกรรมในการหาความรู้ที่เฉพาะเจาะจง และไม่เฉพาะในห้องเรียน   การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย โดยเฉพาะการเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้คณาจารย์ บุคลากร ต้องวางโครงสร้างใหม่เป็น Digital first รองรับกลุ่มเป้าหมาย นักศึกษา ทั้งระยะสั้นและยาว ที่ไม่ได้มีเฉพาะแค่ภายในประเทศ แต่ยังรวมไปถึงมหาวิทยาลัยจากทั่วโลก เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับภาวะ Disruption ในระบบการศึกษา

              “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้สร้างกระบวนการสร้างแผนกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงระยะยาว  และได้เชิญชวน 3 มหาวิทยาลัยที่มีพันธกิจการก่อตั้งใกล้เคียงกัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยนำร่องเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การบริหารองค์กร จากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก อาทิ National University of Singapore เพื่อสามารถนำมาประยุกต์ใช้ตามบริบทมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างกันทั้ง 3 มหาวิทยาลัยให้สามารถการพัฒนากำลังคน ยกระดับการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา กำลังคน ที่มีทักษะสูง ให้มีจำนวนมากขึ้นเพื่อเป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดอย่างยั่งยืนต่อไป”  

 

 

Scroll to Top