เรื่องเล่า 60 ปี มข.ย้อนวันวานผ่าน 7 มุมมองศิษย์มอดินแดงหลาก Generation EP.3

หลังจากอ่านเรื่องราวในช่วงปี 2507 จนถึงช่วง 2514 – 2518 ขยับมาอีกยุคในปี 2527 มหาวิทยาลัยขอนแก่นปรับเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง กองสื่อสารองค์กรชวนย้อนวันวานในรั้วสีอิฐ ผ่าน 7 มุมมองศิษย์มอดินแดงหลาก Generation EP.3  ที่ไม่เพียงแต่บอกเล่าความทรงจำ แต่ยังเป็นการเปิดหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ และความภาคภูมิใจตลอด 60 ปีในมหาวิทยาลัยของพวกเรา 

2527 แรมรุ้ง วรวัธ  บัณฑิต มข. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปัจจุบัน

ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ

ปี 2527 สาวจังหวัดเพชรบุรีขึ้นรถไฟกับพ่อและแม่เดินทางมายังจังหวัดขอนแก่นเป็นครั้งแรก เพราะต้องเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคอีสาน และวันแรกที่มาถึงเธอถึงกับน้ำตาคลอเมื่อมองเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ พบทางที่เต็มไปด้วยดินแดง ริมทางเรียงรายไปด้วยต้นสน ด้านข้างมีสระน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่อยู่ถัดไปจากทุ่งนาสีเขียว “แรมรุ้ง” ถึงกับนึกในใจว่า “ชนบทขนาดนี้จะอยู่ได้ไหมหนอ”

เรียนไปได้ไม่นาน นอกจากเส้นทางชีวิตที่ชัดเจนขึ้น คำถามมากมายในวันแรกที่ก้าวเข้าสู่รั้วมอดินแดงก็เริ่มกระจ่างเช่นกัน โดยเฉพาะทุ่งนาที่เห็นในมหาวิทยาลัยนั้น จากตอนแรกที่คิดว่ามีเพราะเป็นชนบท แต่ในความเป็นจริงแล้วที่ตรงนั้นคือแปลงเกษตร ซึ่งเป็นพื้นที่ให้เพื่อน ๆ คณะเกษตรศาสตร์ได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติ ทั้งทำนา เลี้ยงควาย ปลูกผัก ลงแปลง ความอบอุ่นจากการต้อนรับของรุ่นพี่และเพื่อน ๆ เช็ดคราบน้ำตาให้เธอไปจนหมดจด พี่รูมเมตแสนดีจากต่างคณะให้ความช่วยเหลือทุกก้าวย่างในการใช้ชีวิต จากหอพักเดินทางในมหาวิทยาลัยด้วยรถสาย 8 บางครั้งที่ไม่มีรถมาก็ต้องจับมือเดินไปด้วยกัน ในช่วงนั้นสระดินแดงที่กำลังจะอุ้มน้ำไม่ได้ ก็ถูกปรับปรุงด้วยองค์ความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ และเริ่มมีการปูพลาสติกจนกลายเป็นสระพลาสติก สถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้นักศึกษาได้ไปออกกำลังกาย ไปปิกนิกกัน หรือเดินไปอ่านหนังสือที่หอสมุดจนถึงเที่ยงคืนในช่วงสอบ หรือไปยืนต่อแถวหน้าหอสมุดเพื่อใช้โทรศัพท์โทรกลับบ้าน เป็นบรรยากาศที่สร้างพลังแห่งการเรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีวิต

ปีแรกที่เรียนคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ทำให้ได้ค้นพบตัวเองว่าต้องการเดินบนสายอาชีพที่ได้ช่วยเหลือผู้คน เมื่อขึ้นปี 2 เธอจึงตัดสินใจขอย้ายมาเรียนสาขาที่เพิ่งเปิดใหม่อย่าง “สาขาพัฒนาชุมชน” ได้เรียนวิชาที่ใช่ทั้งกระบวนการทำงานมนุษย์กับสังคม ปัญหาสังคม หลักการพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม และพัฒนาคนเรื่องพื้นฐานการทำงานกับมนุษย์ ปรัชญาในการทำงานและใช้ชีวิต วิชาความคิดสร้างสรรค์ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการเรียนที่เป็นแนวทางในการทำงานและดำเนินชีวิตทำให้ได้ระลึกอยู่เสมอว่าเธอมาเรียนที่นี่เพื่ออะไร และจะนำอะไรออกไปในวันที่ต้องเรียนจบและต้องเดินออกจากรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น

“พี่ไม่ใช่คนเรียนหนังสือเก่ง แต่อยากทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน นอกจากการเรียน พี่ก็ไปอยู่ในชุมนุมดนตรี ร่วมกันพา KKU Band ออกไปแสดงดนตรีให้น้อง ๆ ที่มีภาวะบกพร่องทางการมองเห็นได้ฟังกัน ทำให้น้องมีความสุข เราเองก็มีความสุข พี่รู้สึกโชคดีมากที่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เรียนทั้งวิชาที่ใช่ และวิชาที่ชอบ ได้ไปฝึกงานเป็นคำแพงของพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เรียนรู้การอยู่กับชาวบ้าน เก็บข้อมูลปัญหาในชุมชน ก่อนจะทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ทั้งหมดนี้นำมาสู่จิตวิญญาณและอุดมการณ์ในการประกอบอาชีพรับใช้และพัฒนาสังคมอย่างแท้จริงแบบทุกวันนี้”

 

เรื่อง : ผานิต  ฆาตนาค

ภาพ : แรมรุ้ง วรวัธ และ หอจดหมายเหตุ มข.

อ่าน : เรื่องเล่า 60 ปี มข.ย้อนวันวานผ่าน 7 มุมมองศิษย์มอดินแดงหลาก Generation EP.1

เรื่องเล่า 60 ปี มข.ย้อนวันวานผ่าน 7 มุมมองศิษย์มอดินแดงหลาก Generation EP.2

ติดตามเรื่องราวของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในมุมมองอื่น ๆ ยุคต่อไป เร็ว ๆ นี้

Scroll to Top