มข. ประกาศย้ำ นโยบายหนุนนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย เต็มที่หลังทำผลงานดีต่อเนื่อง ล่าสุด ! ขึ้นแท่นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานตีพิมพ์และอ้างอิงสูงที่สุดในระดับโลก ตามแนว Beyond Publication นอกจากตีพิมพ์ได้แล้ว ต้องถ่ายทอดสู่ชุมชนได้ เกิดประโยชน์กับสังคมได้
จากการที่วารสารวิชาการนานาชาติ PLOS BIOLOGY ได้เผยแพร่ บทความการจัดอันดับโดย มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University) มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่อง “Updated science-wide author databases of standardized citation indicators” ซึ่งเป็นการเปิดเผยรายชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานตีพิมพ์และอ้างอิงสูงที่สุดติด Top 2% ของโลก (World’s Top 2% Scientists by Stanford University) ปี 2021 ในสาขาวิชาต่างๆ มากกว่า 100,000 คน จาก 22 สาขาหลัก 176 สาขาย่อย ผลปรากฎว่ามีนักวิจัย มข. ขึ้นแท่น นักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานตีพิมพ์และอ้างอิงสูงที่สุดในระดับโลกถึง 35 ราย
ศาสตรจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดอันดับพร้อมย้ำถึงนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้านการส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัย ให้มีการสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ว่า ก่อนอื่นขอกล่าวถึงการจัดลำดับนักวิจัยลำดับโลกโดย World’s Top 2% Scientists by Stanford University ประจำปีนี้ ตามที่ประกาศออกมาแล้วก็ต้องขอแสดงความยินดีกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้รับเกียรติถูกจัดลำดับหลายท่านเลยทีเดียว เบื้องต้นเรียนให้ทราบก่อนว่า การจัดลำดับครั้งนี้มีหน่วยงานสำคัญระดับโลก 3 ส่วนช่วยกันทำ ได้แก่ สำนักพิมพ์ Elsevier บริษัท Scitech Strategies และ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้ร่วมกันวิเคราะห์ สังเคราะห์แล้วก็วางเกณฑ์มาตรฐานต่างๆเพื่อให้เป็น Third Party หรือเป็นตัวกลางในการจัดลำดับนักวิจัยที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก มีทั้งหมด 22 สาขาหลัก กว่า 176 สาขาย่อย มีนักวิจัยกว่าแสนคนที่ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งปีนี้ก็จะมีการแบ่งเป็นสองประเภทก็คือ กลุ่มแรกที่เรียกว่ามีผลกระทบจากการอ้างอิง ตลอดอาชีพวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า Career-long citation Impact ก็คือเป็นเหมือนกับเป็นผลงานสะสม Life Time กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่เรียกว่า citation Impact สูงมากในปีที่ผ่านมาซึ่งหมายถึงปี 2020 จะมีสองประเภท ซึ่งพบว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัยในกลุ่มของ Life Time หรือ Career-long citation ตั้งแต่ปี 1996 – 2021 เรามีถึง 13 ท่านที่ได้ถูกจัดลำดับในกลุ่ม 2 % แล้วก็ในกลุ่มที่ทำงานผลงาน citation ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมาก็จะมี 22 ท่าน ซึ่งรางวัลในสาขาที่ระดับโลกที่ได้รับจัดลำดับส่วนใหญ่จะเป็นสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ อย่างเช่นสาขา Internal Medicine (อายุรศาสตร์) Tropical Medecine (เวชศาสตร์เขตร้อน) เรื่องของ Pharmacy (เภสัชศาสตร์) เรื่องของ Energy (พลังงาน) และ เรื่องของ Polymer (วัสดุศาสตร์) ที่จะเป็นหลัก แต่ในส่วนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนอกจาก 4 – 5 สาขาหลักที่ว่าไปแล้วกลุ่มทางสายเกษตรศาสตร์เราก็ได้อย่างเช่นกลุ่ม Animal Science กลุ่ม Education เราก็มี จะว่าไปแล้วนักวิทยาศาสตร์นักวิจัยเรา ก็ได้รับการจัดอันดับหลากหลายสาขา ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่เราได้รางวัลลงมาถึงระดับนักวิจัยด้วย
ศาสตรจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา กล่าวต่ออีกว่า หลายคนอาจจะคุ้นกับการจัดลำดับของมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันเราก็รู้จักเรื่องของ QS World Ranking และ Time Higher Education อันนี้จะเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัย นอกจากการจัด World Ranking แล้ว การจัดลำดับมหาวิทยาลัยในเรื่องของการมีผลกระทบต่อสังคม หรือ Social Impact ว่า เป็นไปตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs 17 เรื่อง เราก็อยู่ในลำดับที่ค่อนข้างดี ส่วนเรื่องของ Top 2 % Scientists by Stanford University เป็นการมองที่ตัวนักวิจัย เพราะฉะนั้นก็จะมองย่อยลงไปในนักวิจัยแล้วก็ไปดึงในฐานข้อมูลต่าง ๆ มาดูว่านักวิจัยเหล่านั้นทำงานวิจัยมาจำนวนมากน้อยแค่ไหน มีการเอาไปอ้างอิงไปใช้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน มีความร่วมมือเป็น Co-author partnership กับคนอื่นมากน้อยแค่ไหน แล้วก็ดูเรื่อง H-Index และส่วนอื่นประกอบ ซึ่ง Criteria เกณฑ์หรือข้อกำหนดต่างๆ ทีมจัดลำดับก็มีการคุยกันจนตกผลึกจนได้ประกาศเป็น Top 2 % Scientists ออกมาในสองกลุ่มที่เราได้เห็นกัน
สำหรับคำถามในด้านประเด็นความสำคัญของการประกาศผลครั้งนี้ว่า มีความสำคัญต่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นมากน้อยแค่ไหน ? รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ความสำคัญของตัวที่ประกาศออกมา โดยเฉพาะในส่วนของการวิจัยนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดลำดับของตัวมหาวิทยาลัยเอง มหาวิทยาลัยจะได้ลำดับที่ดีก็ต้องมาจากนักวิจัยที่มีคุณภาพและก็เป็นที่ยอมรับ เพราะฉะนั้นการจัดลำดับนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยนี้ ก็จะช่วยในเรื่อง
เรื่องแรก คือ ช่วยในเรื่องของ World Ranking ว่าเรามีนักวิจัยที่มีคุณภาพสามารถผลิตผลงานที่มีการใช้ประโยชน์ในเชิงของวิชาการได้เต็มที่ ซึ่งตรงนี้ก็จะเน้นไปตรงวิชาการเป็นส่วนใหญ่การใช้ประโยชน์ในเชิงการสร้างองค์ความรู้ใหม่การอ้างอิงแล้วก็นักวิจัยจะมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง
เรื่องที่สอง ก็จะส่งผลต่อแหล่งทุนต่าง ๆ ที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นอาจจะต้องไปส่งข้อเสนอโครงการไปก็จะเกิดความมั่นใจให้กับแหล่งทุนว่า มข.มีนักวิจัยชั้นนำในระดับติด Top 2 % ของโลกจำนวนมาก แล้วก็จะส่งผลต่อเครดิตของมหาวิทยาลัยด้วย และนอกจากจะเป็นเครดิตของแหล่งทุนไทยแล้วยังรวมถึงแหล่งทุนต่างประเทศด้วย เพราะว่าการ Rank นี้ มันปรากฏไปทั่วโลก เพราะฉะนั้น Funding Agency (หน่วยงานจัดหาเงินทุน) ในระดับต่างชาติ ก็จะเห็นว่าแต่ละมหาวิทยาลัยของไทย มีใครที่เป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นการเพิ่มเรื่องของโอกาสที่เราจะได้ร่วมมือกับแหล่งทุนในต่างประเทศ หรือว่ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ ที่เป็นลักษณะของการทำงานระดับสากล ระดับโลก อันนี้เป็นข้อดีมากก็จะช่วยส่งผลต่อ World Ranking ที่จะตามมา ขณะเดียวกันเราก็สามารถที่จะบอกกับทางรัฐบาล สำนักงบประมาณต่าง ๆ ว่า ที่เรามีงบประมาณมาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อผลิตบัณฑิต เพื่อผลิตนักศึกษาทำงานวิจัยแล้วก็มีนักวิจัยชั้นนำที่เข้าข่ายระดับสากลจำนวนมาก ขณะเดียวกันฝ่ายวิจัยเองก็พยายามผลักดันอาจารย์ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ดี ๆ ทำงาน นอกจากการตีพิมพ์แล้วก็ทำงานเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆต่ออีกเราเรียกว่า Beyond Publication ซึ่งเป็นนโยบายของท่านอธิการบดีที่ว่านอกจากจะต้องตีพิมพ์ได้แล้ว งานนั้นต้องถ่ายทอดสู่ชุมชนได้ เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้ หรืออาจจะเกิดการสรรค์สร้างนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ หรือใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะต่อไป ซึ่งอันนี้ก็จะมีหลาย ๆ Third Party หรือตัวกลาง มาช่วยกันประเมินซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ให้ความสำคัญกับทุกส่วน
ศาสตรจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังได้ตอบข้อคำถามสุดท้ายในส่วนของฝ่ายวิจัยจะมีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นนักวิจัยไม่ว่าจะเป็นตัวอาจารย์เอง หรือว่าจะเป็นนักศึกษาที่อยู่ในระบบได้มีการขับเคลื่อนการสนับสนุนด้านนี้อย่างไรบ้าง ? ว่า ตอนนี้มหาวิทยาลัยก็พยายามสร้างระบบที่เรียกว่า ระบบนิเวศน์ของการพัฒนานักวิจัย ซึ่ง มข.เรามีนักวิจัย ตั้งแต่นักวิจัยใหม่ที่เข้ามา เบื้องต้นเราก็จะมีระบบบ่มเพาะนักวิจัยใหม่ และก็มีระบบพี่เลี้ยงเพื่อที่จะให้นักวิจัยได้ทำงานอย่างมีความสุข ทั้งเรื่องการสอนด้วย ต้องทำวิจัยด้วยแล้วก็ต้องถ่ายทอด หรือการบริการวิชาการนำไปใช้ประโยชน์ด้วย โดยให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ มีพี่เลี้ยงดูแล
จากนั้นทุกคนก็ต้องขอตำแหน่งทางวิชาการ ขึ้นมาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ก็จะถูกจัดให้เป็นนักวิจัยรุ่นกลางแล้ว นอกจากนั้นเราก็จะมีระบบ Ecosystem อีกแบบ มีการจัดตั้งเป็น Research Programe คือการตั้งกลุ่มวิจัย การพัฒานักวิจัยระดับปริญญาเอกหรือหลังปริญญาเอก จนกระทั่งทำงานได้ระดับหนึ่งก็จะเข้าสู่นักวิจัยอาวุโส มีทีมนักวิจัยอาวุโส แล้วก็มีการนำเข้าสู่รางวัลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัยระดับเงิน ระดับทอง ระดับเพชร สารสิน และระดับต่างๆ จนกระทั่ง ถึง Top 2 % Scientists ก็ถือเป็นการประกาศเกียรติคุณของนักวิจัยเราที่ทำงานอย่างต่อเนื่องโดย Third Party ที่เป็นระดับสากล ระดับโลกอย่างนี้ เพราะฉะนั้นฝ่ายวิจัยก็จะดูแลนักวิจัยอย่างเป็นระบบแล้วก็พยายามสร้างระบบนิเวศน์ให้เชื่อมต่อกันแล้วก็มีการถ่ายทอดและนำเข้าสู่ระบบของการศึกษาด้วย เหมือนเป็นการบ่มเพาะตั้งแต่ระดับจนปริญญาตรีไปจนถึงขั้นนักวิจัยจริง ๆ ซึ่งเป็นการย้ำนโยบายของท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อย่างชัดเจนคือ Beyond Publication งานวิจัยนอกจากจะต้องตีพิมพ์ได้แล้ว งานนั้นต้องถ่ายทอดสู่ชุมชนได้ เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้หรืออาจจะเกิดการสรรค์สร้างนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะต่อไป ศาสตรจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา กล่าวในที่สุด
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์ / กองบริหารงานวิจัย มข.