มหาวิทยาลัยขอนแก่น จับมือ วช. ลงนามความร่วมมือกับ อบจ.ขอนแก่น ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเชิงบูรณาการ จ.ขอนแก่น

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำโดย ดร.วิภารัตน์     ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น นำโดย ดร.พงษ์ศักดิ์  ตั้งวานิชกพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น พร้อมผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ได้ร่วมลงนามลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ณ ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือการพัฒนาและขับเคลื่อนต้นแบบในการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ตรวจคัดกรอง รณรงค์ให้ความรู้เพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ส่งเสริมการนำหลักสูตรเสริมสรhางภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อนํ้าดีไปใช้ในโรงเรียน ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลเพื่อการตัดวงจรพยาธิใบไม้ตับ พัฒนาเครือข่ายอาหารปลอดภัย : ปลาปลอดพยาธิใบไม้ตับ และพัฒนาบุคลากรตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยเครื่องอัลตราซาวด์

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  กล่าวว่าสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ผ่านการขับเคลื่อนโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยหวังใช้การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมที่เกิดจากการบูรณาการสหสาขาวิชา เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและชัดเจน จึงได้สนับสนุนทุนการดำเนินงานวิจัย ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) แก่ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยหวังผลให้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีนั้นลดน้อยลงหรือหมดไปจากประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับ “ทศวรรษกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568” ของกระทรวงสาธารณสุข จนบัดนี้ โครงการวิจัยดังกล่าวมีนวัตกรรมอันเป็นผลิตผลสำคัญในการแก้ไขปัญหามากมาย อาทิเช่น

  1. ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ “Isan cohort”
  2. ระบบขอคำปรึกษาสำหรับแพทย์ผู้ตรวจอัลตราซาวด์ “Tele-radio consultation”
  3. การวิเคราะห์ผลอัลตราซาวด์ด้วยปัญญาประดิษฐ์
  4. การแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ “อำเภอต้นแบบ”
  5. ชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-Rapid Diagnosis Test-OV-RDT) เป็นต้น

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่ง ที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะการที่สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี จะนำนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่จริง ด้วยการขยายความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นนี้ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ยินดีที่จะให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยในทุกๆ ด้าน ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยต่อไป”

ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติและผู้นำของสถาบันอุดมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีท่อน้ำดี ทั้งในประเทศไทยและประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก

และถือเป็นโครงการสำคัญที่มหาวิทยาลัยแก่น  ดำเนินงานเพื่อการอุทิศให้แก่สังคม และจากการทำงานที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องของสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถผลักดันคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 โดยดำเนินการผ่านโครงการปลอดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อคนไทยสุขภาพดีในปี 2568 ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว สถาบันวิจัยมะเร็ง      ท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผ่านโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ จึงได้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น   ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น และสำนักงานเขตสุขภาพที่ 7 กระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้ด้วยการบูรณาการนวัตกรรมต่างๆ เป็นการลดการสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการในการดำเนินโครงการ “ความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2565-2568”  ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อสร้างความร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ความร่วมมือเพื่อ

  1. สร้างการรับรู้และความตระหนักในโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน
  2. การสร้างความรอบรู้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในโรงเรียน
  3. การดำเนินงานเกี่ยวกับอาหารปลอดพยาธิใบไม้ตับ
  4. การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับในประชาชนกลุ่มเสี่ยง
  5. การคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชนกลุ่มเสี่ยง
  6. การพัฒนาระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างยั่งยืน
  7. การพัฒนาระบบส่งต่อเพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ขอแสดงความตั้งใจให้ความร่วมมือครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ต่อไป”

ดร.พงษ์ศักดิ์  ตั้งวานิชกพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น

และ ดร.พงษ์ศักดิ์  ตั้งวานิชกพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวว่า “ขอนแก่นเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีประชากรมากเกือบ 2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งมีโอกาสติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับกว่า 1.6 ล้านคน (ร้อยละ 84) จากการที่มีพฤติกรรมการบริโภคปลาดิบอันเป็นวิถีพื้นฐานของชาวอีสาน และการติดเชื้อดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งท่อน้ำดี ดังนั้น โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จึงเป็นปัญหาทางสาธารสุขสำคัญของจังหวัดขอนแก่น ซึ่ง Mr. DG Mac Leish อดีตประธานราชวิทยาลัยแห่ง   ออสตราเลเซียน ออสเตรเลีย ได้ขนานนามจังหวัดขอนแก่นว่า เป็นเมืองหลวงของโรคมะเร็งท่อน้ำดี (The Capital City of Cholangiocarcinoma)

องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ในฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด มีภารกิจสำคัญในการจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการจัดการด้านการสาธารณสุข ซึ่งมีความพร้อมในทรัพยากร ทั้งงบประมาณและบุคลากร จึงมีความยินดีอย่างยิ่ง ในการร่วมเป็นภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี กับสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การสนับสนุนงบประมาณ และการบูรณาการนวัตกรรมต่างๆ เพื่อประชากรจังหวัดขอนแก่นมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ปลอดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและอัตราการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีเป็นศูนย์ในที่สุด

จังหวัดขอนแก่น ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายและดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2562 มีคำสั่งที่ 2543/2562 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่เสี่ยง จังหวัดขอนแก่น และมีคำสั่งจังหวัดขอนแก่นที่ 2546/2562 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2562 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่เสี่ยง จังหวัดขอนแก่น (เพิ่มเติม) และกำหนดให้อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด และอำเภอเมืองขอนแก่น เป็นอำเภอต้นแบบที่มีการดำเนินงานแก้ปัญหาครบทุกยุทธศาสตร์ พร้อมกำหนดให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นการขับเคลื่อนการแก้ปัญหารูปแบบใหม่ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในรูปแบบ “อำเภอต้นแบบในการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” ซึ่งก็ได้มีการดำเนินงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นเป็นองค์กรหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เนื่องจากเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด จึงมีความพร้อมทั้งด้านงบประมาณและบุคคลากร ในขณะเดียวกันยังมีบทบาทในการสนับสนุนการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก อันจะช่วยให้เกิดการส่งต่อนโยบายและขยายความร่วมมือนี้ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัดด้วย

Scroll to Top