“อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ หรือ Nasal Creator Device”
คว้ารางวัล “เหรียญเงิน” ระดับนานาชาติ จากผลงานประกวด 800 ชิ้น กว่า 40 ประเทศ ของการประกวดแข่งขัน Geneva Inventions ในงาน The 48th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์
“อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ หรือ Nasal Creator Device”
เป็นสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือจากทีมวิจัยสหสาขาวิชาชีพจากคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รศ.ดร.ทพ.พูนศักดิ์ ภิเศก เป็นหัวหน้าทีม โดยผลงานดังกล่าว มีจุดเริ่มต้น ในปีพ.ศ. 2561 ในรายวิชาโครงการวิจัยทางทันตกรรม ซึ่งรศ.พูนศักดิ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย และนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 5 ประกอบด้วย นทพ.วนิดา อัครโชติสกุล, นทพ.ชลนภา พัฒนภิรมย์ และนทพ.ธนาภรณ์ นีละกาญจน์ (ปัจจุบันทุกท่านสำเร็จการศึกษารับราชการเป็นทันตแพทย์แล้ว) สนใจออกแบบพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ โดยมี รศ.ดร.สุรสิทธิ์ ปิยะศิลป์ คณะวิศวกรรมศาสตร์, ผศ.นพ.พลากร สุรกุลประภา คณะแพทยศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในลักษณะของทีมสหสาขาวิชาชีพ และต่อยอดด้วยการศึกษาเชิงคลินิกของ ทพญ.สุลาวัลย์ แววสง่า นักศึกษาหลังปริญญาหลักสูตรวุฒิบัตร สาขาทันตกรรมจัดฟัน โครงการวิจัยนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ “Research Fantasia Season X” จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาผลงานนี้ได้รับการรับรองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการใช้งานในผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ในโรงพยาบาลและสถานบริการทั่วประเทศ โดยเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายอุปกรณ์นี้จากสปสช.
ในปีพ.ศ. 2562 ผลงานนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคม (National Innovation Awards for Social Contribution 2019) จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ปี พ.ศ.2563 ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลประกาศเกียรติคุณผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ปี พ.ศ.2564 ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวดแข่งขัน ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ จนคว้ารางวัลระดับนานาชาติในครั้งนี้
รศ.ทพ.ดร. พูนศักดิ์ ภิเศก หัวหน้าทีมผู้คิดค้นอุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “การออกแบบอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ได้ทำการวิจัยร่วมกันในลักษณะสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งเริ่มจากนักศึกษาทันตแพทย์ระดับปริญญาตรีได้ทำการศึกษาออกแบบพัฒนาเครื่องมือเป็นตัวต้นแบบ ตามมาด้วยการศึกษาวิจัยต่อยอดทางคลินิกโดยนักศึกษาหลังปริญญาในหลักสูตรทันตแพทย์ประจำบ้านสาขาทันตกรรมจัดฟัน ได้ศึกษาผลของอุปกรณ์นี้ในเชิงคลินิก ซึ่งเป็นการศึกษาต่อเนื่องติดตามผลการใช้งานในผู้ป่วยหลังใช้เครื่องมือนี้ในการผ่าตัดตกแต่งจมูกและริมฝีปาก โดยคณาจารย์จากคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย เดิมทีอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ยังไม่มีการผลิตขึ้นมาในประเทศ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาชิ้นละ 3,500 – 4,000 บาท ต่อชิ้น ซึ่งคนไข้ปากแหว่งเพดานโหว่ 1 คนต้องใช้ประมาณ 3 ชิ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อผู้ป่วย 1 คน อยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท เมื่ออุปกรณ์นี้สามารถผลิตได้สำเร็จจะทำให้ลดการนำเข้าจากต่างประเทศและต้นทุนการผลิตถูกลง เฉลี่ยชิ้นละ 200-300 บาท ทำให้ค่าอุปกรณ์ในการรักษา ลดลงถึง 10 เท่า สำหรับความสำเร็จในครั้งนี้ ผมขอขอบคุณ ผศ.ทพ. วัชรินทร์ หอวิจิตร ผศ.ดร.ทพ. เอกสิทธิ์ มโนสุดประสิทธิ์ อ.ดร.ทพญ. พุทธธิดา วังศรีมงคลและ คุณสุธีรา ประดับวงศ์ ที่มีส่วนช่วยเหลือในงานวิจัยและเตรียมการประกวดแข่งขัน ขอขอบพระคุณประธานมูลนิธิตะวันฉาย ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น รศ.(พิเศษ) ดร.ทพญ. สมใจ สาตราวาหะ และท่าน รศ.ดร.ทพญ. วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด”
เป็นอุปกรณ์ที่ผลิตจากโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร (อย.) เป็นวัสดุที่มีความปลอดภัย และได้มาตรฐาน ซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) จึงอนุมัติให้สถานพยาบาลทั่วทุกประเทศได้ใช้งาน และยังได้ส่งต่อไปในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชาอีกด้วย