เมื่อวันอังคารที่ 15 กันยายน 2563 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดพิธีลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศ ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ บริษัท คริสเตียนี และนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทก่อสร้าง และการลงนามในสัญญาระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับบริษัทอรุณชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัด ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง โดยมี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับและเปิดงาน ซึ่ง รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้แทนในการลงนาม กับบริษัทก่อสร้าง โดย นาย คูชรู คาลี วาเดีย ตัวแทนของบริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) พร้อมกับพิธีลงนามในสัญญาระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและ ดร.ปิยวัชร ชัยเสรี ตัวแทน บริษัท อรุณ ชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัด ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งมี คณะกรรมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณบดีศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ ร่วมเป็นเกียรติ และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามอย่างพร้อมเพรียง
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี กล่าวว่า “โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศนี้นับเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อสร้างบนพื้นที่ประมาณ 32 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวน 8 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานน้ำบาดาล เขต 4 ขอนแก่น จำนวน 24 ไร่ ซึ่งได้คืนพื้นที่ให้กับกรมธนารักษ์เพื่ออนุญาตให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยมีบริษัทสถาปนิก 110 จำกัด เป็นผู้ออกแบบ และ บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ควบคุมโครงการ มีวงเงินในการก่อสร้างร่วม 4,000 ล้านบาท เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีพื้นที่บริการเพิ่มขึ้นอีก 120,000 ตารางเมตร โครงการนี้ นอกจากการขยายบริการทางการแพทย์แล้วยังทำให้สามารถเพิ่มการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อีกปีละ 150 คน สามารถขยายการสร้างงานวิจัย และนวัตกรรมทางการแพทย์อีกจำนวนมากนับเป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมถึงภูมิภาคข้างเคียงได้อีกด้วย”
“สภามหาวิทยาลัยขอนแก่นมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อตอบสนองสังคมและสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ดีมากนอกจากเรื่องในการให้บริการทางการศึกษาก็คือการให้บริการทางการศึกษา คือการให้บริการทางการสาธารณสุขด้านสาธารณสุขให้ดีที่สุดกว้างขวางที่สุด สนองทุกจุดในจังหวัด ภาคอีสาน และประเทศเพื่อนบ้าน ฉะนั้นโครงการนี้โครงการนี้เป็นโครงการที่สภาให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่และผลักดันมาโดยตลอด เพราะว่าเห็นชัดเจนว่าคณะแพทยศาสตร์ความมุ่งมั่นจะทำด้วยการสนับสนุนนี้โครงการนี้จึงได้เกิดขึ้น ในปัจจุบันเทคโนโลยีมาเร็วมากขึ้นมีสิ่งที่เรารู้จักกันทั่วไป คือ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งทางคณะแพทย์ได้นำมาใช้ในส่วนต่าง ๆ อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข เชื่อว่าถ้านำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ได้อย่างเต็มที่จะช่วยในการดูแลสุขภาพจะทำให้ความสามารถในการดูแลสุขภาพของประชาชนจะดีขึ้นอย่างยอดเยี่ยม” ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี กล่าวในที่สุด
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นโครงการที่เราได้ออกแบบมาอย่างดีโดยบริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่มีประสบการณ์ในการออกแบบโรงพยาบาลใหญ่ในกรุงเทพฯ และออกแบบอาคารใหญ่ๆ ในระดับประเทศ นอกจากนี้เรายังได้บริษัท อรุณ ชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัด ที่เป็นบริษัทก่อสร้างชั้นนำ และจึงมีบริษัทบริหารโครงการคือ บริษัท เอทีทีคอนซัลแตนท์ จำกัด จึงมั่นใจว่าการก่อสร้างอาคารจะควบคุมให้ได้คุณภาพ และแล้วเสร็จตามเวลาเพื่อให้ประชาชนได้ใช้อาคารนี้โดยเร็วที่สุด”
“อาคารศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศประกอบด้วยอาคารกลาง งบประมาณ 4,300 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าครุภัณฑ์ ประมาณ 1 พันล้านบาท โดยมีบริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) เสนอราคาต่ำสุด ในราคาประมูล 3,900 ล้านบาท จึงเป็นผู้ชนะการประมูล โดยจะมีพื้นที่บริการ 120,000 ตารางเมตร ทำให้สามารถขยายบริการทางการแพทย์ โดยมีเตียงผู้ป่วยในได้เพิ่มอีกกว่า 622 เตียง มีห้องผ่าตัดเพิ่มอีก 25 ห้อง และห้อง ICU อีก 117 เตียง ซึ่งจำนวนห้องผ่าตัดและเตียงวิกฤตยังขาดอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ในโครงการยังไม่ทอดทิ้งพี่น้องประชาชนที่มาจากทางไกล ฐานะไม่ดีจากต่างจังหวัด จัดเรือนพักสำหรับญาติผู้ป่วยที่เก็บเงินวันละ 5-10 บาทอีก 400 ยูนิต พร้อมมีอาคารจอดรถได้อีกจำนวน 1,000 คัน โครงการนี้มีระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี โดยจะมีการวางแผนออกแบบ และสำรวจความต้องการในระยะต่อไป”
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวต่อไปว่า “ด้านกองทุน อายุวัฒนะ ยังเปิดรับตลอดเวลาการให้บริจาค ถึงแม้มีวงเงินบริจาคไม่สูงก็รับ ขณะนี้ยังมีจำนวนผู้บริจาคไม่มากนัก การก่อสร้างในเฟส 1 ไม่มีปัญหาในเรื่องงบประมาณ เนื่องจากคณะยังงบประมาณเพียงพอโดยมีทุนสำรองอยู่จำนวน 2,000 กว่าล้านบาท ซึ่งยังคงต้องมีการเปิดรับบริจาคอีกต่อไป เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศในเฟสที่ 2-3 จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมระดมทุนบริจาคต่อไป”
อธิการบดีกล่าวทิ้งท้ายว่า “ศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศจะนำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในด้านการแพทย์มากขึ้น โดยจะนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรค การตรวจทางพยาธิ การตรวจทางเอ็กซเรย์ กาตรวจโรคบางอย่าง ให้มีความถูกต้อง แม่นยำ รวมทั้งการใช้เอไอเป็นเครื่องมือในการติดตามผู้ป่วย และการเปลี่ยนแปลงของโรคให้ถูกต้องแม่นยำ นอกจากนี้ ยังจะใช้เอไอในการให้บริการทางการแพทย์ระยะไกล หรือ Telemedicine รวมทั้งในด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์จำพวกหุ่นยนต์มาช่วยเสริมในการให้บริการทางการแพทย์ ให้ดียิ่งขึ้น ถูกต้องแม่นยำ รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ KKU Health Care Innovation Center ซึ่งเป็นศูนย์ที่จะดึงบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล รวมทั้งด้านวิศวคอม วิศวกรรมสารสนเทศ Com Science คณะวิชาต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ แม้แต่คณะสถาปัตยกรรม เพื่อออกแบบที่พักอาศัย ครอบคลุมไปถึงการดูแลคนไทยสูงอายุที่อายุยืน ว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุทั้งที่โรงพยาบาล และที่บ้านให้ปลอดภัยได้อย่างไรอีกด้วย”
รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวในท้ายที่สุดว่า “โครงการนี้ นับเป็นความสำคัญอีกก้าวหนึ่งของวงการสาธารณสุขในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในประเทศไทย โรงพยาบาลศรีนครินทร์มีความมุ่งมั่นที่จะขยายบริการทางการแพทย์ไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มจำนวนเตียงอีกกว่า 600 เตียง หรือห้องผ่าตัดเพิ่มอีก 25 ห้อง แต่ในอาคารนี้จะมีการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศให้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี การรักษาทางด้านอายุรศาสตร์ หรือทางกุมารเวชกรรม ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์ รวมถึงคณะต่าง ๆ ในศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ขอถือโอกาสนี้สื่อสารไปถึงประชาชนชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะยืนหยัดในการทำเพื่อประชาชนให้ถึงที่สุด และในอนาคตสุขภาพของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับการดูแลอย่างดียิ่งจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น”
โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากจะมีการให้บริการทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังสามารถเพิ่มการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อีกปีละ 150 คน สามารถขยายการสร้างงานวิจัย และนวัตกรรมทางการแพทย์อีกจำนวนมาก ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภูมิภาคข้างเคียงได้เป็นอย่างดี
ข่าว/ภาพ : วัชรา น้อยชมภู