ปัจจุบันสหประชาชาติ United Nations หรือ UN ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นหนทางแทบจะคู่ขนานกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ฉะนั้นภาครัฐและเอกชนจึงต้องร่วมมือกันคิดค้นหาทางออกใหม่ ๆ โดยอาศัยมุมมองจากหลายศาสตร์ มาประยุกต์ร่วม มหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะสถาบันการศึกษาแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ศาสตร์ต่าง ๆ จึงจัดโครงการ ศิลปะบนท้องนายกระดับอาชีพด้วยบูรณาการศาสตร์เพื่อความยั่งยืน แปรรูปขนมจีนจิ้งหรีด ครั้งที่ 2 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลกู่ทอง อ.เชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566เพื่อให้ประชาชนและนักวิชาการนักวิจัยได้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา โดยมุ่งเน้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ (SDGs)
ดร.พงศ์พันธุ์ ศรัทธาทิพย์ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยากรในการอบรมครั้งนี้เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้มุ่งเน้นเป้าหมาย SDGs ในด้านขจัดความยากจน สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย และสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม ตลอดจนสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำมรดกทางภูมิปัญญา เมนูยอดนิยมอย่างข้าวปุ้นน้ำยาปลาแดก หรือ ขนมจีนน้ำยาปลาร้า ที่ชาวอีสานนิยมทำในงานบุญหรืองานมงคลต่าง ๆ มาผสานองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ อย่าง ดร.ธีรวีร์ ดิษยไชยพงศ์ หรือ เชฟจากัวร์ ผู้อำนวยการสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย และ ผู้ชนะเลิศ Top Chef Thailand ซีซั่น 3 มาช่วยพัฒนาเมนูขนมจีน คิดสูตรการทำเส้นขนมจีนจิ้งหรีด 4 ภาค ยกระดับให้เป็นเมนูทดแทนโปรตีน ทำให้เกิดคุณค่าเพิ่มทางการตลาด สร้างรายได้ให้ชุมชน ในขณะเดียวกันก็เป็นการสานต่อมรดกทางภูมิปัญญาอีสานให้คงอยู่ต่อไป
“จากข้อมูลเราทราบว่าบ้านขามเปี้ย มีเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นจำนวนมาก และในจิ้งหรีด 1 ตัว เต็มไปด้วยโปรตีนคุณภาพสูง มีกรดอะมิโนจำเป็น 9 ชนิด และอุดมไปด้วยแคลเซียม วิตามินบี 12, โอเมก้า 3, ธาตุเหล็ก ซึ่งถ้าเทียบตามน้ำหนักแล้วมากกว่าเนื้อวัวเกือบ 2 เท่า เป็นแหล่งโปรตีนใหม่ที่เรียกได้ว่า Super Food และสามารถนำมาแปลงร่างรวมใส่เส้นขนมจีนที่ขึ้นชื่อของของดีของตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม แม้ว่าการกินแมลงเพื่อคุณค่าทางโภชนาการและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนอาจฟังดูเป็นเรื่องใหม่ในบ้านเรา แต่มันจะกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ฉะนั้นโครงการนี้จึงจัดขึ้นเพื่อสร้างสตาร์ทอัพ ที่นำจิ้งหรีดมาใส่ในเส้นขนมจีน เพื่อเพิ่มโปรตีน ไปพร้อมๆกับการเป็นผลิตภัณฑ์แนวใหม่ นำมารับประทานกับน้ำยา 4 ภาค และผักสด เชื่อว่าหลังจากการอบรมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมจะสามารถประกอบอาชีพได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถขยายผลไปสู่ การกระตุ้นยอดขายผัก เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน เกิดสตาร์ทอัพใหม่ อีกด้วย”
และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 40 คน ที่ประกอบด้วย กลุ่มแม่บ้าน ผู้ประกอบการ และประชาชนที่สนใจ เข้าใจและนำไปปรับใช้ได้จริง การอบรบครั้งนี้จึงเป็นรูปแบบเชิงปฏิบัติการ 4 หัวข้อ คือ การผลิตเส้นขนมจีนโปรตีนจิ้งหรีด การทำน้ำยาขนมจีน 4 ภาค การผลิตเส้นขนมจีนโปรตีนจิ้งหรีดอบแห้งเพื่อเป็นสินค้าของฝาก และ สร้าง Story telling สร้างแบรนด์ แพคเกจจิ้ง
นางดาหวัน ทะสา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกู่ทอง กล่าวถึงการอบรมครั้งนี้ว่า “การจัดอบรมครั้งนี้ เป็นการต่อยอดเป็นการทำขนมจีนจิ้งหรีดอบแห้ง และทำน้ำยาขนมจีนแบบเข้มข้น เพื่อพัฒนาเป็นแพกเก็จจำหน่ายและเป็นของฝาก และยังเป็นต้นแบบในการประกอบอาชีพ ซึ่ง อบต.กู่ทองจะทำตลาดช่วย ทั้งตลาดออนไลน์ และตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ฉะนั้นวันนี้จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการกับประชาชนในชุมชน ให้สามารถผลิตและแปรรูปอาหารด้วยหลักการ Fusion Food. หรือ Local Food to Functional Food. และการนำอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ยกระดับให้แก่เมนูพื้นบ้านรสชาติถูกปาก จัดเสริฟอย่างมีศิลปะ รวมไปถึงการการยกระดับการให้บริการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มารับประทานอาหารในชุมชน เป็นการท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยสามารถเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวด้านอื่นๆ แปรรูปผักผลไม้พัฒนาผลิตภัณฑ์ จากของกินสู่ของฝาก ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายร่วมกัน
บทความ : รวิพร สายแสนทอง