LTIC KKU เปิดเวทีดัน “อาจารย์-บุคลากร มข.” แชร์ไอเดียผลิตสื่อการเรียนรู้อย่างมืออาชีพในยุคดิจิทัล

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00 น. ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน (LTIC KKU)  มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การผลิตสื่อดิจิทัลสำหรับการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล และนิทรรศการผลิตสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล โดย รศ. นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดงาน  ท่ามกลางคณาจารย์ บุคลากร เครือข่ายนักวิชาการด้านสื่อนักวิชาการโสตทัศนศึกษา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และนักศึกษา เข้าร่วมกว่า 200 คน   ณ สำนักหอสมุด  ชั้น 2 อาคารศูนย์สารสนเทศ

รศ. นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ความสำคัญของสื่อดิจิทัล คือ การสร้าง Learning Resources เป็นการสร้างบทเรียนออนไลน์ที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำเนินการ Education Transformation เน้นการเรียนรู้ Learning Paradigm เกี่ยวกับการเรียนการสอน มีการพัฒนาหลักสูตรเดิมสู่กระบวนทัศน์ใหม่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่ (Flipped classroom)

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนที่ทันกับยุคสมัยของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ผู้สอนจะต้องพัฒนาการผลิตสื่อให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของผู้เรียนในอนาคต ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนการทำงานและการเรียนรู้เพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัล  โดยการเพิ่มพูนทักษะทางดิจิทัลให้กับตนเองได้สามารถผลิตสื่อการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการทำงานและการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่กิจกรรมครั้งนี้มีบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นการเปิดเวทีให้นำเสนอผลงานการผลิตสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล และ แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางกระบวนการผลิตสื่อดิจิทัล ให้บุคลากรตระหนักถึงการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของมหาวิทยาลัย ตลอดจนสร้างเครือข่ายการผลิตสื่อให้เกิดความเข้มแข็ง มีการสนับสนุน และ อำนวยความสะดวกในการผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพต่อไป”

ขณะที่ ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี  รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น   กล่าวรายงานว่า  มหาวิทยาลัยได้ผลักดัน Digital Transformation เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี และผลิตบัณฑิตแห่งอนาคต การพัฒนาหน่วยงาน หรือกลไกในการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน และการสร้างผลงานผ่านระบบดิจิทัลขับเคลื่อนขนานไปกับพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย ทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ  รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาทักษะบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยี มีการพัฒนาระบบการทำงานและการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

“ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอนเป็นหน่วยงานสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันรวมถึงสร้าง Platform ต่าง ๆ ให้เกิดการเรียนรู้แบบออนไลน์  อีกทั้งจัดอบรม สัมมนา กิจกรรม เพื่อพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลให้กับคณาจารย์ให้สามารถออกแบบบทเรียนกิจกรรมการเรียนการสอนออนไลน์ได้  มีการขับเคลื่อน Production house  ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยให้ความสำคัญกับการสร้างและแบ่งปันเครื่องมือการเรียนรู้ที่ใช้งานง่ายและมีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างเนื้อหาที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต Life Long Learning และสร้างเครือข่ายผลิตสื่อและ E-learning ที่เข้มแข็ง คำนึงถึงการประสานงานระหว่างสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลในรูปแบบที่มีความสอดคล้องกัน”

ทั้งนี้ ช่วงท้ายของกิจกรรม ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน (LTIC KKU) ยังได้จัดเสวนา เรื่อง “Generative AI ในการเรียนรู้ อะไร อย่างไร”  โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ ศ. ดร.วนิดา แก่นอากาศ และ ผศ. ดร.อนุชา โสมาบุตร เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักและเข้าใจในการประยุกต์ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสามารถพัฒนาการทำงานและพร้อมรับมือกับการเรียนรู้ในอนาคตต่อไป

นอกจากนี้ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน (LTIC KKU)  ยังเปิดเวทีให้คณาจารย์ บุคลากร เครือข่ายนักวิชาการด้านสื่อนักวิชาการโสตทัศนศึกษา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และนักศึกษา ได้ส่งผลงานสื่อการเรียนการสอนเข้าร่วมประกวดแข่งขันในธีม Show & Share โดยมีผลงานเข้าร่วม จำนวน 42 ผลงาน โดยผลการประกวด นิทรรศการการผลิตสื่อดิจิทัล  มี  5 รางวัล ได้แก่

รางวัล Best Practice  ได้แก่ เรื่อง VR EQUINE DISTAL LIMB  คณะสัตวแพทยศาสตร์ โดย ผศ.สพ.ญ.สุพรรณิกา พุทธชาลี

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เรื่อง การพัฒนาระบบ Smart ICU คณะแพทยศาสตร์ โดย คุณสิดารัตน์  สมัครสมาน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เรื่อง ผลของการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยวิถีใหม่ด้วยการแพทย์ทางไกลแบบไร้ร่องรอยต่อของ OPD SMC  คณะแพทยศาสตร์ โดย นางรุจิราพร ศรีโย

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่  เรื่อง การประชุมวิชาและการเรียนการสอนออนไลน์แบบโต้ตอบข้ามแพลตฟอร์ม  เครือข่ายผลิตสื่อ KKU

รางวัล Popular  ได้แก่ เรื่อง KKUL 360: เกมส์ล่าขุมทรัพย์ชิงรางวัลในรูปแบบ VR  สำนักหอสมุด โดย นายธีรยุทธ  บาลชน

ข่าว / ภาพ : ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น(LTIC KKU)

Scroll to Top