ศัลยแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดสัญญาณเสี่ยง “มะเร็งลำไส้ใหญ่” แนะคัดกรองไว รักษาได้ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมอธิบายวิธีป้องกันและลดความเสี่ยงก่อนป่วยเป็นโรคภัยเงียบใกล้ตัว
มะเร็งลำไส้ กลายเป็นคำค้นหายอดนิยมบน Google หลัง นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร หรือ “ผู้ว่าฯหมูป่า” อดีต ผวจ.เชียงราย เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แล้วโรคภัยเงียบใกล้ตัวนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีปัจจัยเสี่ยง หรือสัญญาณเตือนหรือไม่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์มีคำตอบ
วันนี้ 23 มิถุนายน 2566 ผศ.นพ.กฤษฎา เปานาเรียง ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวถึงโรคภัยเงียบใกล้ตัวนี้ว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัย คือ 1.พันธุกรรม ซึ่งหากมีญาติสายตรง พ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ มะเร็งที่เกี่ยวข้อง ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นได้เช่นเดียวกัน
ปัจจัยที่ 2 คือ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะการรับประทานเนื้อแดง ดิบ ๆ สุก ๆ อาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม หรือรับประทานผัก ผลไม้น้อย และปัจจัยสุดท้าย คือ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงภาวะอ้วน ไม่ออกกำลังกายก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคมะเร็งลำไส้ได้
เช็กสัญญาณเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
สำหรับอาการหรือสัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น ผศ.นพ.กฤษฎา ระบุว่า “มะเร็งทุกชนิด ระยะแรกเริ่มไม่มีอาการ” นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า หลายคนพบว่าป่วยเป็นมะเร็งในระยะท้าย ๆ แล้ว เนื่องจากอาการเริ่มปรากฏ ทั้งการถ่ายเป็นเลือด มูกเลือด รู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด อุจจาระก้อนเล็ก ท้องผูกสลับท้องเสีย ไปจนถึงอาการเบื่ออาหาร และอาเจียน
“อาการที่ปรากฏขึ้นมานั้นส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงที่มะเร็งลุกลามไปที่อื่น เช่น ลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง หรือกระจายไปอวัยวะอื่น เช่น ตับ ปอด ไปจนถึงก้อนมะเร็งใหญ่ขึ้น ก็ทำให้มีอาการเหล่านี้ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็งด้วย ซึ่งอาการก็จะแตกต่างกันออกไป”
เมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว สิ่งที่ควรดำเนินการต่อไปคือการเข้ารับการรักษา ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งแพทย์ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รับผิดชอบด้านการผ่าตัด ส่วนแพทย์อายุรศาสตร์มะเร็ง จะดูแลการใช้เคมีบำบัด และแพทย์รังสีรักษา จะรักษาคนไข้ด้วยการฉายแสง ซึ่งจะช่วยรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ครบถ้วนทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ
“ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์พบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ เฉพาะผู้ป่วยชายมากเป็นอันดับ 2 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด รองจากมะเร็งตับเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยหญิงพบมากเป็นอันดับ 3 จากผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด”
มะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้ไว รักษาได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยนวัตกรรมที่มีความก้าวหน้า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และระบบการคัดกรองผู้ป่วยตั้งแต่ยังไม่มีอาการจนนำไปสู่การรักษาตั้งแต่ต้น ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และในแต่ละปีมีการตรวจคัดกรองเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากใครที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ควรตรวจคัดกรองก่อนอายุ 40 ปี ในกรณีผู้ที่มีอาการผิดปกติ มีสัญญาณเตือนก็ขอให้พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทันที เพื่อให้เข้าถึงการรักษาได้ และเพิ่มโอกาสการใช้ชีวิตให้ยืนยาวมากยิ่งขึ้น
ผศ.นพ.กฤษฎา ยังย้ำถึงการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ว่า ทุกคนสามารถลดความเสี่ยงของตัวเองได้ โดยเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานผัก ผลไม้มากขึ้น ลดอาหารเนื้อแดง สุก ๆ ดิบ ๆ หรือเลี้ยงอาหารไหม้ งดสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและให้ชีวิตห่างไกลจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยตัวคุณเอง
ข่าว : ผานิต ฆาตนาค นักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ