มข.ปั้น “นักบินโดรนเกษตร” อาชีพมาแรง สร้างรายได้ให้เกษตรกรรุ่นใหม่ในชุมชน

มข.ปั้น นักบินโดรนเกษตร อาชีพมาแรง สร้างรายได้ให้เกษตรกรรุ่นใหม่ในชุมชน ถ่ายทอดเทคนิคและองค์ความรู้ทั้งการควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร และเทคนิคทางการเกษตรต่าง ๆ พร้อมวางแผนโมเดลธุรกิจสู่การประกอบอาชีพจริงอย่างยั่งยืน

 

เกษตรกรรมที่ใช้สัตว์ช่วยทุ่นแรงคน กลายเป็นภาพจำในอดีต และเครื่องจักรอย่างรถไถ-รถหว่านก็เข้ามาเป็นเครื่องมือยอดนิยมในเกษตรกรรมปัจจุบันควบคู่ไปกับแรงงานคน แต่เกษตรกรก็ยังเผชิญกับข้อจำกัดบางอย่าง ทั้งแรงงานคนที่ต้องใช้เวลาและเงินทุนจำนวนมาก ขณะที่รถไถก็ติดหล่มในช่วงฤดูฝน และเข้าพื้นที่ไม่ได้เมื่อพืชผลโต

ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา อย่างโดรนเพื่อการเกษตร ที่ช่วยลดต้นทุนและเวลา ด้วยคุณสมบัติทำงานไวฉีดพ่น 3 ไร่ ใน 10 นาที หรือฉีดพ่น-หว่านได้ในทุกพื้นที่ และในอนาคตโดรนเพื่อการเกษตรก็กำลังจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ คล้ายกับรถไถเดินตามเคยมาแทนสัตว์ และรถไถนั่งขับก็มาแทนรถไถเดินตามอีกทีนั่นเอง

รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงที่มาของโครงการพัฒนาอาชีพนักบินโดรนเกษตร (บพท.) ว่า สาขาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนวัตกรรมเกี่ยวกับโดรนเกษตรในงานอารักขาพืช และการตรวจประเมินสุขภาพ และผลผลิตของพืชในแปลงด้วยโดรน ซึ่งได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้ตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน จึงนำองค์ความรู้มาต่อยอด โดยมุ่งเป้าในการพัฒนาพื้นที่ชุมชน และพัฒนาเกษตรกรไปสู่การเป็น Smart farmer

โดรนการเกษตรถูกจอดทิ้งเพราะไร้คนขับ

โครงการได้เริ่มต้นจากการลงพื้นที่สำรวจเกษตรกรในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ทำให้พบว่า ในพื้นที่กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานเกษตร ขณะเดียวกัน ความพยายามในการเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกเกษตรกรอย่างการใช้โดรนเพื่อการเกษตรนั้นก็ยังไม่เป็นผล เมื่อกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่จะมีโดรนอยู่แล้ว กลับจอดโดรนทิ้งไว้กว่า 70% เนื่องจากขาดนักบินโดรนเกษตรที่เชี่ยวชาญ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเกษตรและสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร และสาขาพืชไร่ และคณะมนุษยศาสตร์ สาขาสังคมวิทยา จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและจัดโครงการฯ ขึ้น

สังคมสูงอายุ ส่งผลให้แรงงานเกษตรเริ่มขาดแคลน ขณะเดียวกันแรงงานคนรุ่นใหม่ก็กลับถิ่นฐานหลังโควิดจำนวนมาก มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงหวังว่าจะสามารถสร้างอาชีพนักบินโดรนให้เกษตรกรรุ่นใหม่ในชุมชนเป็น Young Smart Farmer ได้

ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่โมเดลธุรกิจ

รศ.ดร.ขวัญตรี ระบุอีกว่า โครงการพัฒนาอาชีพนักบินโดรนเกษตร (บพท.) นั้น สำรวจบริบทในพื้นที่แล้วหยิบยกมาเป็นหัวข้อในการอบรม ทั้งการควบคุมโดรน การบำรุงรักษาโดรน และการบริหารการใช้แบตเตอรี่ที่ถูกต้อง ที่จะทำให้ใช้งานอย่างคุ้มค่า ข้อดีข้อจำกัดของโดรนแต่ละรุ่น แต่ละขนาด และวิธีการเลือกใช้ให้เหมาะกับงาน และการเลือกหัวฉีดในการฉีดพ่นที่เหมาะสม ขนาดของละออง หน้ากว้าง ความเร็ว และระยะความสูงในการบิน ที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ รวมถึงการแก้ปัญหากรณีลมแรง

ขณะเดียวกัน ยังมีการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้สารฉีดพ่นเพื่อช่วยการย่อยสลายใบอ้อยและตอซังข้าว และเศษซากพืช เพื่อลดการเผา และบำรุงดิน รวมถึงการเลือกใช้สารเคมีในการควบคุมวัชพืชอย่างถูกต้อง ตัวอย่างชุดสารเคมีและวิธีการผสมที่ถูกต้องเพื่อให้สารออกฤทธิ์เต็มที่ เมื่อใช้กับโดรน และการเลือกใช้ให้เหมาะกับชนิดและความชื้นของดิน โดยมีนักบินอาชีพเป็นวิทยาถ่ายทอดองค์ความรู้ถึง 3 วัน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ผู้เข้าร่วมอบรมได้ฝึกปฏิบัติจริง ในการควบคุมโดรน ส่วนคนที่บินเป็นอยู่แล้วก็ได้สอบถามวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กัน ตั้งแต่เทคนิคการเตรียมสาร เทคนิคการบิน การเปลี่ยนหัวฉีด ไปจนถึงการบำรุงรักษาและทำความสะอาดโดรนด้วย

 

อาชีพใหม่มาแรง สร้างรายได้ยั่งยืน

ไม่เพียงการฝึกทักษะการบินโดรนเกษตรเท่านั้น โครงการฯ ยังสร้างเครือข่ายประสานความร่วมมือทั้งสถาบันการเงิน ภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ สร้างเป็นโมเดลธุรกิจรับจ้างฉีดพ่นโดรนเกษตร  3 รูปแบบ ถ่ายทอดให้ผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 70 คน ได้สร้างความเข้าใจ ทั้งโมเดลแบบลงทุนเองคนเดียวและไปรับจ้างแบบ SME ลงทุนโดรน รถ และอุปกรณ์จำนวนหลายลำแล้วจ้างและแบ่งเปอร์เซ็นต์กับนักบิน และแบบลงทุนซื้อโดรนโดยกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ก่อนจะให้คนในกลุ่มที่เป็นนักบินเช่าโดรนไปใช้งาน

อาชีพนักบินโดรนเกษตรในภาคอีสานยังถือเป็นอาชีพใหม่ที่ยังมีช่องว่างการตลาดอยู่มาก ผลสำรวจพบว่า อาชีพนักบินโดรนเกษตรนั้นสามารถสร้างรายได้เดือนละ 20,000 – 50,000 บาท ในอนาคตนับเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ แม้การอบรมในโครงการพัฒนาอาชีพนักบินโดรนเกษตร (บพท.) จะจบลงไปแล้ว แต่ความรู้และเทคโนโลยีไม่มีหยุดนิ่ง ทางภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ Drone Learning Spaceขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สอบถามข้อมูล และเรียนรู้เทคนิคเกี่ยวกับโดรนเพื่อการเกษตรออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา ให้ประชาชนสามารถเป็นนักบินโดรนเกษตรได้อย่างมืออาชีพและยั่งยืน

KKU molds “agricultural drone pilots”, a new trending occupation that can bring incomes to new-generation farmers in communities

 

https://www.kku.ac.th/16555

 

ข่าว : ผานิต ฆาตนาค นักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปลื้มรับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ TQC ประจำปี 2566 จัดกิจกรรมแสดงความยินดีและบรรยายเส้นทางการบริหารสู่ความเป็นเลิศ เพื่อพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ในอนาคต

Scroll to Top