มข.เผยผลวิจัย “หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน”ชี้ทางรอดของวัฒนธรรมฝ่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคม พร้อมโชว์การออกแบบโมเดล(Model)หมอลำดิจิทัลสู่สาธารณะชน

        วันที่ 21 มีนาคม 2565 ที่ห้องคอนเวนชั่น 3 โรงแรมอวานี ขอนแก่นโฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ได้มีกิจกรรมเผยแพร่ผลการศึกษาดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน”จัดทำโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead)ด้านสังคม คนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยมี รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดงาน

ผศ.ดร.ศิวาพร ฟองทอง หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน”

         ผศ.ดร.ศิวาพร ฟองทอง หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวรายงานว่า คณาจารย์ของคณะเศรษฐศาสตร์ และ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน”ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead)ด้านสังคม คนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือหมอลำ ในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการปรับเปลี่ยนเชิงธุรกิจของหมอลำให้อยู่รอดในสังคมปัจจุบัน รวมถึงการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ชมหมอลำ และนำมาปรับใช้ในการออกแบบการให้บริการและการดำเนินธุรกิจหมอลำเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคตต่อไป ซึ่งการจัดโครงการในครั้งนี้เป็นการเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการ“หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน” และการออกแบบโมเดล(Model)รูปแบบการแสดงจากการศึกษา เพื่อสื่อให้เห็นถึงความสำคัญและการยกระดับวัฒนธรรมหมอลำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

        จากนั้น รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวเปิดงานผ่านระบบออนไลน์มายังผู้ร่วมกิจกรรมภายในห้องประชุมว่า รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการ“หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน” ซึ่งคณาจารย์ของคณะเศรษฐศาสตร์ และ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดขึ้นในวันนี้ ในนามมหาวิทยาลัยขอนแก่นขอขอบคุณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคมคนไทย 4.0 ที่ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อศึกษาและยกระดับพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมสู่ความเป็นสากล ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของเราชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีทีมนักวิจัยที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพที่สามารถศึกษาและสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมตามปณิธานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ หวังว่าการเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการ“หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน”ของวันนี้ จะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทางด้านวัฒนธรรม และตัวโครงการเองก็ยังได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อยกระดับให้กับธุรกิจหมอลำ รวมถึงผลักดันอีสานให้เป็นมหานครหมอลำต่อไปในอนาคต

การแสดงเปิดฉาก โดย หมอลำอุดมศิลป์ และหมอแคนอ้น แคนเขียว

        หลังจากพิธีเปิดได้เสร็จสิ้นลงได้มีการแสดงเปิดฉาก โดย หมอลำอุดมศิลป์ และหมอแคนอ้น แคนเขียว ต่อด้วยการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยโดย ผศ.ดร.ศิวาพร ฟองทอง หัวหน้าโครงการวิจัยหัวข้อ”หมอลำกับเศรษฐกิจอีสาน” และการนำเสนอหัวข้อ “หมอลำกับการออกแบบการบริการให้ตอบสนองต่อตลาดและนำเสนอตัวแบบการออกแบบการให้บริการ” ( service design ) โดย ผศ.ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ นักวิจัยโครงการ การนำเสนอผลการศึกษาในหัวข้อ “หมอลำกับการแปรเปลี่ยนของสังคมอีสาน” โดย ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม นักวิจัยโครงการ และชมการแสดงหมอลำชุด “จากหมอลำพื้น สู่ หมอลำดิจิทัล : The Soft Power of Esan” โดยศิลปินหมอลำที่มาร่วมงาน
          สำหรับงานครั้งนี้ยังได้มี รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยนวัตกรรม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ยังมี ผู้แทนจากองค์กรต่างๆอาทิ ผู้แทนแผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี ธนาคารแห่งประเทศไทยสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดขอนแก่น นักวิชาการอิสระด้านวัฒนธรรม หัวหน้าคณะหมอลำ และสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ร่วมเป็นเกียรติในงาน
ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น นักวิจัยโครงการ นำเสนอผลการศึกษาในหัวข้อ “หมอลำกับการแปรเปลี่ยนของสังคมอีสาน”

 

ข่าว : อุดมชัย สุพรรณวงศ์
ภาพ : อุดมชัย สุพรรณวงศ์
จิตรลัดดา แสนตา วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น

KKU publicizes the outcome of a research study: “Mo Lam and Isan people’s economy, social and health conditions”, which leads to cultural survival under social changes; and shows the digital Mo Lam model

https://www.kku.ac.th/12888

Scroll to Top