ฝ่ายดิจิทัล มข. ทำระบบรายงานผลการฉีดวัคซีน นศ. ทั่วประเทศ เข้าใจง่าย ดูได้เรียลไทม์ !

วันเปิดเทอมปลาย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ทุกคณะในมหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถกลับมาจัดการเรียนการสอนในสถานที่ (On site) ได้อีกครั้ง  ภายใต้มาตรการป้องกันการระบาด วัดอุณหภูมิ ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ล้างมือ โดยก่อนหน้านั้นในช่วงเดือน พฤศจิกายน ทางมหาวิทยาลัย ฯ ได้มีการวางแผน เตรียมพร้อมด้านข้อมูลการฉีดวัคซีนของนักศึกษา เพื่อให้อาจารย์ตรวจสอบสำหรับการวางแผน  และ สร้างความมั่นใจในการกลับสู่ห้องเรียน

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2564 อาจารย์ที่จะเปิดสอนแบบปกติเทอมหน้า สามารถดูข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ที่เว็บไซต์ที่มหาวิทยาลัยทำขึ้น โดยสามารถดูข้อมูลนักศึกษาที่ได้รับวัคซีนเจาะลงไปตั้งแต่ระดับคณะ หลักสูตร และรายวิชา

“อาจารย์ผู้สอนสามารถดูข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ที่ https://kku.world/stdvstat  โดยสามารถดูข้อมูลว่า นักศึกษาในวิชาที่ตัวเองสอนได้ฉีดวัคซีนแล้วกี่คน เหลือกี่คน ซึ่งหลังจากที่ได้วางแผนการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายและการรณรงค์อย่างหนักมาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดขณะนี้มีนักศึกษาฉีดวัคซีนโควิด-19 เกิน ร้อยละ 95   ซึ่งเป็นการสำรวจนักศึกษาด้วย Google Form และประมวลผล ด้วยโปรแกรม Power BI ซึ่งสามารถ วิเคราะห์ สรุปผลข้อมูลจำนวนมาก ได้ทั้งรูปแบบ ตาราง Visualization  กราฟ ทำให้เรา ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว และ ในช่วงเวลาเดียวกัน ได้รับการประสานจาก กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่ต้องการทราบข้อมูลจำนวนนักศึกษาที่ได้วัคซีนโควิด-19 ในลักษณะเดียวกันจากทั่วประเทศ เราจึงดำเนินการในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันอีกครั้ง”

นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นมีผู้ฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งหมด 35,234 คน คิดเป็น 95.86 %  ฉีดเข็ม 2 ไปแล้วกว่า 55.67 % และ  นักศึกษาส่วนใหญ่ รับวัคซีนสูตร ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า 26.06 %”

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้องการทราบว่านักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยรับวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วเท่าไหร่ จะเปิดเทอมแบบปกติได้หรือยัง พบว่าบางมหาวิทยาลัยต้องทำสำรวจนักศึกษาด้วย Google Form ซึ่งพบว่านักศึกษาไม่ค่อยกรอกข้อมูล  ทีมงานจึงได้รวบรวมข้อมูล การรับวัคซีน covid-19 ของนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ปัจจุบันมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 1,803,314 คน คิดเป็นร้อยละ 95.25   โดยสามารถระบุว่าได้รับเข็ม 1 ไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์  เข็ม 2 ไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ และสามารถดูรายละเอียดว่ามหาวิทยาลัยใดมีนักศึกษาที่ได้รับการฉีดวัคซีน เปอร์เซ็นต์สูงสุด และ จากโปรแกรมดังกล่าวสามารถอ่านข้อมูลรายมหาวิทยาลัยได้ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีผู้ฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งหมด 35,234 คน คิดเป็นร้อยละ 95.86  ฉีดเข็ม 2 ไปแล้วกว่าร้อยละ 55.67  และ  นักศึกษาส่วนใหญ่ รับวัคซีนสูตร ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้าร้อยละ 26.06 ”

นอกจากการกลับสู่ห้องเรียนแบบปกติโดยใช้เครื่องมือทางดิจิทัลเป็นฐานข้อมูลประกอบการพิจารณาของผู้สอนแล้ว ข้อมูลอีกประการที่ต้องใช้เป็นจำนวนมาก คือผลตรวจ ATK ที่จะเป็นอีกหนทางในการช่วยส่งเสริมให้สามารถจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับความปลอดภัยจากโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวถึงการตรวจ ATK คนจำนวนหลายพันคน จากหลายจุด ในเวลาที่จำกัด โดยให้สามารถรายงานผลได้แบบทันที Realtime ว่า การประมวลข้อมูลจำนวนมากในลักษณะนี้ต้องใช้เครื่องมือดิจิทัล ซึ่งบัณฑิตที่จะต้องมาฝึกซ้อมและเข้ารับปริญญา มข. ในปีนี้ มีการตรวจ ATK ประมาณ 5000+ คน เราก็ใช้อะไรแบบไม่ยุ่งยาก คือ Google Sheets แต่จะต้องเชื่อมกันหลาย Sheets ต้องใช้ App Script ต้องทำรายงานแบบ realtime Protect Sheets/Ranges และมีระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูล 

“ในทีมพัฒนามีการพูดคุยต่อยอดถึงการนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น หากมีการตรวจ ATK กันมาก ๆ และเป็นเงื่อนไขในการเข้าสถานที่ หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ จะทำอย่างไรจึงจะสามารถใช้ผลร่วมกันได้ และ จะเชื่อถือผลกันอย่างไร โดยเฉพาะการตรวจของหน่วยงาน โดยใช้ ATK แบบ Home Use หากทำได้ น่าจะช่วยส่งเสริมให้สามารถจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับความปลอดภัยจากโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น  ซึ่งการเชื่อมกับข้อมูลส่วนกลางอย่าง หมอพร้อม เป็นคำตอบของทีม ทำให้ในวันที่ตรวจ ATK นักศึกษาประมาณ 5000+ คน เราได้นำผลของแต่ละคนไปแสดงที่แอพ “หมอพร้อม” ในเย็นวันเดียวกันนั้นเลย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการใช้ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ผ่านระบบ MOPH-IC หรือ MOPH Immunization Center ระบบฐานข้อมูลกลางของกระทรวงสาธารณสุขสำหรับจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำคัญของการควบคุมโรค การบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ และการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจต่าง ๆ ของทั้งรัฐและเอกชน ที่คำนึงถึงสภาพทางเศรษฐกิจ และสาธารณสุขไปพร้อม ๆ กัน การดำเนินการลักษณะนี้ถือเป็นการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่อยู่บนฐานของข้อมูลอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นตัวอย่างในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ในอนาคตได้ ”รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวทิ้งท้าย

 

สามารถดูข้อมูล การรับวัคซีน covid-19 ของนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศได้ที่ Microsoft Power BI https://kku.world/gpzyp

KKU’s Digital Division comes up with an easy-to-understand real-time vaccination reporting system of university students all over the country!

https://www.kku.ac.th/12365

Scroll to Top