U2T สำนักบริการวิชาการ จัดกิจกรรม : จากไม้ไผ่สู่งานจักสาน แลกเปลี่ยนภูมิปัญญาพื้นถิ่น มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2564 สำนักบริการวิชาการ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลนาฝาย อ.ภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ จากไม้ไผ่สู่งานจักสานยกระดับผลิตภัณฑ์สร้างอาชีพ ภายใต้ โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)

 นางวิราภรณ์  หาญญา รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาฝาย

      นางวิราภรณ์  หาญญา รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาฝาย ได้กล่าวเปิดโครงการโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนนาฝาย นำเอากระติบข้าวที่เป็นสินค้าดั้งเดิมของชุมชน มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมจุดขาย เพื่อให้ตอบโจทย์และตรงกับความต้องการของตลาดให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งกลุ่มจักสานในชุมชนเพื่อสานต่อและอนุรักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้และก่อให้เกิดความยั่งยืน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จำนวนทั้งสิ้น 30 คน

คุณกองมี  หมื่นแก้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจจักสานกระติบข้าวเหนียวไผ่ตะวัน

 

       การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้คุณกองมี  หมื่นแก้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจจักสานกระติบข้าวเหนียวไผ่ตะวัน พร้อมคณะแม่บ้าน มาเป็นผู้ถ่ายทอดเทคนิคการสร้างลวดลายในการสานกระติบข้าว เช่น รูปปลา รูปหัวใจ หรือดอกไม้   เทคนิคการจักตอกให้ได้คุณภาพ กระบวนการย้อมสีตอกจากธรรมชาติ และการต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้กับชาวบ้านและได้เน้นย้ำถึงประโยชน์ของการรวมตัวและจัดตั้งเป็นเป็นกลุ่มวิสาหกิจเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนอีกด้วย กลุ่มจักสานกระติบข้าวเหนียวไผ่ตะวัน เป็นอีกหนึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รศ.ดร.ดวงจันทร์  นาชัยสินธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปกรรมศาสตร์ ได้มีร่วมกันทำงานวิจัยกับทางกลุ่มเพื่อพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ ทั้งในด้านการออกแบบ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก่อให้เกิดความหลากหลาย และเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

คุณตาสงวน ภาคำ

            คุณตาสงวน ภาคำ ชาวบ้านที่เข้ารับการอบรม  ได้เล่าถึงความตั้งใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งว่า เมื่อ 30 กว่าปีก่อนตนเองก็เคยเชี่ยวชาญในด้านงานจักสานกระติบ มีชาวบ้านเคยมาเรียนรู้กับตนเองเป็นจำนวนมาก ซึ่งในสมัยนั้นตนเองสามารถสานกระติบข้าวแบบมีลวดลาย สานเป็นของที่ระลึกให้หน่วยงานราชการในพื้นที่ หรือแม้กระทั่ง สานกระติบข้าวแบบเป็นลวดลายตัวหนังสือเพื่อไปจีบสาวเมื่อครั้งสมัยยังหนุ่ม  แต่ในปัจจุบันตนเองไม่ยึดอาชีพจักสานมานานแล้ว  การมาอบรมในครั้งนี้เพื่อจะกลับมาฟื้นฟูความรู้อีกครั้ง พร้อมกับ มาแลกเปลี่นและเรียนรู้เทคนิควิธีการต่างๆในการสานลวดลายแบบใหม่ เพื่อที่จะเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาเหล่านี้ให้คงไว้ และตนเองก็พร้อมที่จะนำไปถ่ายทอดให้กับชาวบ้านในชุมชนที่สนใจ

            หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมในครั้งนี้สำนักบริการวิชาการและทางองค์การบริหารส่วนตำบลนาฝายได้ร่วมกันวางแผนส่งเสริมที่จะให้มีจัดตั้งกลุ่มจักสานของตำบลนาฝาย และสานต่อภูมิปัญญาเหล่านี้ไปยังกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้จัดตั้งขึ้นในชุมชน เพื่อที่จะเป็นการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และมีแผนในการพัฒนาการตลาดแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ โดยมีกลุ่มผู้ที่ได้รับการจ้างงาน จากโครง U2T ในพื้นที่ ผู้ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอีกด้วย

Scroll to Top