ในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของ covid-19 มีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบสุขภาพการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลเกิดภาวะเตียงเต็มไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ ทั่วประเทศจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบใหม่ขึ้นมารองรับ โดยการให้คนไข้ที่มีอาการไม่มาก หรือ คนไข้กลุ่มอาการสีเขียว ทำการรักษาอยู่ที่บ้าน หรือ ที่เรียกว่า Home Isolation ซึ่งการที่จะทำให้คนไข้อยู่ที่บ้านอย่างปลอดภัยและสามารถติดต่อกับหมอที่โรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือเพื่อเสริมศักยภาพของโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ทำ ระบบจัดการการดูแลผู้ป่วยกักตัวที่อยู่ที่บ้าน หรือ ที่เรียกว่า Home Isolation Management System ขึ้นมา ตามมาตรฐาน Telemedicine ในประเทศไทย เพื่อฝ่าวิกฤติครั้งนี้
รศ.นพ. ชลธิป พงศ์สกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า แพทยสภาได้ประกาศมาตรฐาน telemedicine ในประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ 1.ผู้ใช้งาน หรือ ผู้ป่วยจะต้องยืนยันตัวตน 2.ต้องมีการบันทึกข้อมูล ที่ผู้ป่วยบันทึกเข้ามาในระบบ และการสื่อสารระหว่างทำการรักษา ไว้ในระบบ database เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
“ระบบ Home Isolationมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตรงตามมาตรฐาน Telemedicine ในประเทศไทย เพราะระบบของเราใช้การยืนยันตัวตนโดยบัตรประชาชน และ เลขรหัสหลังบัตร เพราะฉะนั้นครั้งแรกที่เริ่มใช้งานจะต้องลงทะเบียนด้วยตนเอง เมื่อเจ้าตัวกรอก ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจําตัวประชาชน และ รหัสหลังบัตร ระบบของเราจะเช็คตัวตนกับกรมการปกครอง เมื่อถูกต้องจึงจะตอบกลับผู้ใช้งานว่าการยืนยันตัวตนสำเร็จ สามารถลงทะเบียนในระบบได้ นอกจากนี้ มาตรฐาน Telemedicine ในประเทศไทย ยังระบุว่าการใช้งานจะต้องบันทึกสิ่งที่ผู้ป่วยบันทึกเข้ามาในระบบ คำแนะนำที่โรงพยาบาลตอบกลับไป ภาพถ่ายต่างๆ เก็บไว้ใน database ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้”รศ.นพ. ชลธิป กล่าว
ผศ.ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยเกี่ยวกับการทำ ระบบ Home Isolation มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า จากสถานการณ์ที่กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อและไม่สามารถที่จะเข้าสู่ระบบการรักษาของโรงพยาบาลได้ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลหลัก หรือ โรงพยาบาลสนาม รัฐบาลจึงประกาศให้มีระบบ Home Isolation การแยกตัว ดูแลรักษาที่บ้าน หรือ ที่ชุมชน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นที่มาในการทำระบบ เพื่อที่หากจังหวัดขอนแก่นมีเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันกับกรุงเทพฯ หรือ ถ้าต้องช่วยเหลือกรุงเทพฯ จะต้องมีความพร้อม ในขณะเดียวกันเมื่อออกแบบแล้ว ต้องทำให้สามารถขยาย หรือ ใช้งานได้ในโรงพยาบาลอื่นทั่วประเทศ ฉะนั้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทีมพัฒนาระบบจึงวางขั้นตอนง่ายๆไว้ 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวติดต่อโรงพยาบาล ณ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแล้วว่า สามารถใช้ชุด Antigen test kit (แอนติเจน เทสต์ คิท) ยืนยันการเข้าสู่กระบวนการรักษาแบบ Home Isolation ได้ แม้จะมีอาการน้อยมาก ไม่มีอาการ หรือ มีอาการแต่อยู่ระหว่างรอเตียงก็ควรได้รับการดูแลเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
ขั้นตอนที่ 2 โรงพยาบาลรับเป็นคนไข้ในระบบไอที คนไข้ covid-19 ต้องติดต่อโรงพยาบาลที่รับ หรือ มีระบบที่เราใช้ ซึ่งทางโรงพยาบาลจะลงทะเบียนไว้ว่ารับคนไข้แล้ว มีการบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบไอทีเหมือนกับการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แม้ว่าตัวคนไข้จริงๆไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาล แต่อยู่ที่บ้าน หรือ อยู่ที่ชุมชน ฉะนั้นคนไข้จะได้รับการดูแลเหมือนอยู่โรงพยาบาลแต่ผ่านช่องทางของอินเทอร์เน็ต โดยในขั้นตอนนี้โรงพยาบาลจะให้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วพร้อมวัดอัตราการเต้นของหัวใจ เทอร์โมมิเตอร์ ให้คนไข้ด้วย เพื่อส่งข้อมูล สัณญาณชีพ ระหว่างกักตัวให้ทีมแพทย์
ขั้นตอนที่ 3 ผู้ป่วยเพิ่ม LINE official ของโรงพยาบาล เป็นเพื่อนในไลน์ตนเอง เมื่อเพิ่มเข้าไปจะมีเมนูให้ลงทะเบียนเข้าเป็นคนไข้ โดยระบบจะเชื่อมโยงข้อมูลว่าแยกตัวอยู่ที่ไหน อยู่ที่บ้านเลขที่เท่าไหร่ จากนั้นจะดึงพิกัดบ้านดังกล่าวจากมิเตอร์ไฟฟ้า แล้วจะให้ยืนยันตัวตนเพื่อผูก LINE ID ของคนไข้ โดยการยิงกับเลขบัตรประจําตัวประชาชน รวมทั้งเลเซอร์หลังบัตร เพื่อเชื่อมกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์โดยตรง
ขั้นตอนที่ 4 แพทย์ดูแลรักษา โดยจะเป็นการสื่อสารกันระหว่างคนไข้กับโรงพยาบาลทางไลน์ เพื่อส่งข้อมูลสัญญาณชีพ อาทิ ค่าออกซิเจนในเลือด อุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ ตามรอบที่โรงพยาบาลกำหนด ซึ่งทีมแพทย์จะดูแลรักษาจากข้อมูลที่คนไข้ให้มา
ผศ.ดร. เด่นพงษ์ กล่าวเสริมว่า ระบบเราทำขึ้นมาเป็นการเร่งด่วน เพื่อใช้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะฉะนั้นระบบจะถูกพัฒนาจากโจทย์จริง การใช้งานจริง เมื่อทำเสร็จก็มั่นใจได้ว่าระบบใช้งานได้แน่ๆ ฉะนั้นระบบนี้จึงเป็นระบบที่ใช้ในการเสริมศักยภาพของโรงพยาบาล สามารถทำให้โรงพยาบาลรับผู้ป่วยได้มากขึ้น มีผู้ป่วยที่จะเข้าสู่ระบบของโรงพยาบาลได้มากขึ้น ง่ายขึ้น และ รวดเร็วขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเตียงอยู่ที่สถานพยาบาล ใช้ทรัพยากรบุคคลใกล้เคียงเดิม แต่สามารถที่จะดูแลคนได้มากขึ้น คาดหวังว่าระบบจะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาได้ 100%
“ณ ขณะนี้ทางจังหวัดขอนแก่นโดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น มีข้อสั่งการให้สถานพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดขอนแก่นใช้ระบบ Home Isolation มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่ว่าจะมีคนไข้ไปที่โรงพยาบาลนั้นหรือไม่ก็ตาม แต่จำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะรับคนไข้ที่อาจจะออกมาจากพื้นที่สีแดง หรือ สีแดงเข้ม เข้าไปสู่ระบบการดูแลแบบแยกตัวที่บ้าน ส่วนโรงพยาบาลนอกจังหวัดขอนแก่นที่นำระบบนี้ไปใช้แล้ว เช่น โรงพยาบาลสุทธาเวช มหาสารคาม โรงพยาบาลห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ โรงพยาบาล รพ.สต.ร้อยเอ็ด โรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร และ โรงพยาบาลที่จังหวัดระนองที่เรากำลังขึ้นระบบและเริ่มใช้งาน” ผศ.ดร. เด่นพงษ์ กล่าว
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ระบบ home isolation มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นไปตาม นโยบายด้าน CSV ที่มุ่งเน้นการบริการวิชาการสู่สังคม การอุทิศเพื่อชุมชนและสังคม เป็นการยกระดับจิตสำนึกในการรับใช้สังคมโดยใช้องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญในการรับใช้สังคมอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ
“มหาวิทยาลัยขอนแก่นยินดีเป็นอย่างยิ่ง หากโรงพยาบาลที่ยังไม่มีระบบนี้ สนใจใช้ระบบดังกล่าว เรายินดีให้ใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและยินดีที่ให้คำปรึกษา หากท่านเห็นว่าระบบนี้จะเป็นประโยชน์ ขอให้ติดต่อเข้ามาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อนำระบบนี้ไปดูแลผู้ป่วยของท่านให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป”อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูล Home Isolation มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ที่ https://homeisolation.kku.ac.th/
KKU Home Isolation Platform https://www.youtube.com/watch?v=-i1X3J6bJuI
เปิดใจผู้ใช้งานจริง ระบบ Home Isolation https://th.kku.ac.th/71576/
KKU launches “Home Isolation” system, with hope hospitals all over the country will use in caring Covid-19 quarantined patients at their homes