ครม.รับทราบการจัดทำแผนดำเนินงานเพื่อปรับตัวของสาวนราชการ ตามข้อตกลงของกมธ.ศึกษาผลกระทบเข้าร่วมCPTPP

สำนักข่าว : innnews

URL :  https://www.innnews.co.th/news/news_57956/

วันที่เผยแพร่ : 9 มีนาคม 2564

ครม.รับทราบการจัดทำแผนดำเนินงานเพื่อปรับตัวของสาวนราชการ ตามข้อตกลงของกมธ.ศึกษาผลกระทบเข้าร่วมCPTPP

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบ การดำเนินการจัดทำกรอบการทำงานเพื่อติดตามการจัดทำแผนงานการดำเนินการเพื่อปรับตัวของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ กนศ. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวเนื่องรวมทั้งภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง CPTPP รายประเด็น จำนวน 8 คณะ ได้แก่

1.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้านเกษตรและพันธุ์พืช มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน

2.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน

3.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้าน การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

4.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้าน การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ และเอกชนกับรัฐ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน

5.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้าน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน

6.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้าน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและรัฐวิสาหกิจ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน

7.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้าน แรงงาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน

8.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้าน การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน

ซึ่งทั้ง 8 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ จะเร่งจัดทำกรอบการทำงานเพื่อติดตามการจัดทำแผนงาน การดำเนินการเพื่อปรับตัวของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความพร้อมหรือความไม่พร้อมและเงื่อนไขในการขอเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

ครม.รับทราบผลการประเมิน ITA ของไทย ปี 2563 มีคะแนนเฉลี่ยภาพรวมประเทศอยู่ที่  67.90 คะแนน สูงกว่าปีที่ผ่านมา

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี รับทราบผลการประเมิน ITA ของไทย ปี 2563 มีคะแนนเฉลี่ยภาพรวมประเทศอยู่ที่  67.90 คะแนน สูงกว่าปีที่ผ่านมา 1.15 คะแนน  จำนวนหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ 1,095 หน่วยงานหรือร้อยละ 13.19

โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรายงานถึงตัวชี้วัดที่ฉุดรั้งให้ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในภาพรวมระดับประเทศ คือ การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ยังไม่ครบถ้วน ซึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเสนอแนะเชิงกลยุทธ์ 6 ข้อเร่งด่วน เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะและการป้องกันการทุจริต ประกอบด้วย

  • เร่งให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลและบริการผ่านระบบสารสนเทศ
  • กำหนดตัวชี้วัดการกำกับดูแลการประเมิน ITA ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ
  • สนับสนุนการออกแบบโครงสร้างของเว็บไซต์และส่วนต่อประสานกับผู้ใช้งานเว็บไซต์ที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านระบบสารสนเทศที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
  • สร้างแรงจูงใจเชิงบวกในการพัฒนาและยกระดับการเปิดเผยข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านระบบสารสนเทศ
  • สนับสนุนงบประมาณในการผลิตสื่อออนไลน์หรือรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาในการเสริมสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ขององค์กรหรือประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากระบบสารสนเทศในการเปิดเผยข้อมูลและให้บริการประชาชน
  • กำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐและการให้บริการสาธารณะผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน

 

ครม.รับทราบแต่งตั้ง 6 คณะอนุกรรมการ ภายใต้ ศอตช. เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการทุจริตในภาครัฐ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบการแต่งตั้ง 6 คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในภาครัฐได้แก่ คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อจัดทำแนวทาง มาตรการ เสริมสร้าง และประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนในการป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ

คณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับต่างๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย หรือ CPI, คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ บูรณาการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมให้ประชาชนโดยเร็ว,คณะอนุกรรมการเสริมสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมผลิตเนื้อหาและปรับปรุงสื่อประชาสัมพันธ์เดิมเพื่อเสริมสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและอันตรายของการทุจริต ปลูกฝังค่านิยมสุจริต สร้างบุคคลต้นแบบ ส่งเสริมและเสริมสร้างให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการป้องกันเฝ้าระวังการทุจริตและร่วมสร้างกลไกป้องกันการทุจริต, คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต หรือ ศปท. ส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติราชการของ ศปท. ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและขับเคลื่อนการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และคณะอนุกรรมการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของรัฐวิสาหกิจ จะกำหนดแนวทางและขับเคลื่อนการดำเนินงานเรื่องการป้องกันและต่อต้านการทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำระบบอิเล็กทรอนิกส์ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่เกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบเป็นการเฉพาะโดยนายอนุชา เผยว่า นายกรัฐมนตรียังได้มีข้อสั่งการให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยให้รัฐและเอกชนร่วมกันกำหนดบัญชีดำ หรือ Black List ให้ชัดเจน ห้ามทำธุรกรรมกับภาครัฐ สำหรับบริษัทห้างร้าน นิติบุคคล ที่มีสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและสนับสนุนการทุจริตในภาครัฐ

 

ครม.อนุมัติผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ 18 ก.พ. 64

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ หรือ คกง. เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 64 ประกอบด้วย

โครงการพัฒนาระบบสื่อสารสั่งการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับกระทรวงและระดับเขตสุขภาพเป็น Smart EOC เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กรอบวงเงิน 89.91 ล้านบาท เพื่อสร้างระบบส่งสารสั่งการหน่วยงานเครือข่ายให้มีเสถียรภาพ และใช้ทรัพยากรเทคโนโลยีด้านสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อความสะดวกในการติดต่อประสานงาน, โครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 20 โครงการ กรอบวงเงิน 665.09 ล้านบาท และการเปลี่ยนผ่านสู่หลังการแพร่ระบาด ของกรมการแพทย์ วงเงิน 83.10 ล้านบาท โครงการเพิ่มศักยภาพการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วงเงิน 51.00 ล้านบาท โครงการปรับปรุงหอผู้ป่วยวิกฤต ICU NEGATIVE PRESSURE COVID-19 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วงเงิน 121.60 ล้านบาท เป็นต้น โครงการ ฯ ด้านวิจัย จำนวน 3 โครงการ กรอบวงเงิน 44.58 ล้าน ได้แก่ โครงการการขยายผลจากเทคโนโลยีผลิตน้ำยาสกัด RNA เพื่อการตรวจโรคโควิด-19 โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และโครงการแบตเตอรี่สำหรับ PAPR และแบตเตอรี่ทดแทนสำหรับอุปกรณ์การแพทย์เคลื่อนที่โครงการการผลิตชั้นกรองหน้ากาก N95 โดยอาศัยสมบัติทริโบอิเล็กทริกของเส้นใยนาโนธรรมชาติและนาโนซิลเวอร์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำหรับหลักเกณฑ์ที่ใช้วิเคราะห์และกลั่นกรองโครงการฯ เงินกู้ ต้องเกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน และรักษาโรคโควิด- 19 มีความพร้อมในการดำเนินการและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงบประมาณอื่นได้นอกเหนือจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook :

https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

Scroll to Top