ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ได้รับการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2563

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอแสดงความยินดีกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงยศ วีระทวีมาศ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2563

ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ข้าราชการที่ประพฤติตนดี มีผลการปฏิบัติงานที่โดดเด่น และกระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน สังคม และประเทศชาติ โดยให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นพิจารณากลั่นกรองผู้สมควรได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ คือรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น (รางวัลครุฑทองคำ) เป็นประจำทุกปี แล้วเสนอรายชื่อบุคคลผู้ได้รับการพิจารณาให้กระทรวงศึกษาธิการ นั้น ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงยศ วีระทวีมาศ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2563  โดยกรอบการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่นนั้นมี กระบวนการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเพื่อสร้างความโปร่งใส ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาจากคุณลักษณะ พฤติกรรม และผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้บริหารและข้าราชการในสังกัด “โดยคำนึงถึงหลักการครองตน การครองคน การครองงาน การปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงยศ วีระทวีมาศ ท่านยึดถือหลักในการครองตน การครองคน การครองงาน การปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม เช่นว่า

การครองตน : ท่านมีความขยันหมั่นเพียรและรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทั้งในฐานะอาจารย์ และในฐานะผู้บริหารงานระดับคณะ ที่มีภาระงานสอนทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก มีความประหยัดอดออม ใช้จ่ายตามควรแก่ฐานะ เป็นผู้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และกฎหมายอย่างเคร่งครัด   เป็นผู้ปฏิบัติตามคุณธรรมของศาสนา ใช้ชีวิตและปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ศึกษาหลักธรรมและการปฏิบัติจนสามารถเป็นผู้สอนสมาธิของสถาบันพลังจิตตานุภาพ มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และสั่งสอนบุตรหลาน ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ญาติพี่น้องและผู้ใกล้ชิดให้มีความจงรักภักดีเข้าใจต่อการเป็นพลเมืองดีของชาติ

การครองคน : ในการปฏิบัติงานของท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงยศ วีระทวีมาศ  สามารถจัดการระบบความสัมพันธ์ในฐานะส่วนตัวและส่วนรวมได้อย่างเหมาะสม มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน ให้ความช่วยเหลือต่อกิจการงานให้บรรลุผลตามจุดมุ่งหมาย  ในการปฏิบัติงาน มีส่วนในการเสนอแนวคิดและหารือกับผู้ร่วมงานจนสามารถบรรลุผล เช่นการจัดทำหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา การแก้ปัญหาความขัดแย้งในองค์กรเพื่อพัฒนาไปสู่คุณภาพ โดยถือเอาประโยชน์ส่วนรวมขององค์กรเป็นที่ตั้ง สร้างความสามัคคีในองค์กรได้

การครองงาน : ท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในศาสตร์วิชาที่สอนแก่นักศึกษา ทั้งเข้าใจต่อระเบียบกฏเกณฑ์ทางการศึกษา สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ด้วยความเชี่ยวชาญ รับผิดชอบในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ในการบูรณาการการเรียนการสอนที่รวมเอาการบริการวิชาการสู่ชุมชน การสอนสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม ศาสนา และการเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน ผ่านการเรียนในรายวิชา ซึ่งผลงานเป็นประโยชน์ต่อชุมชน นักศึกษา และองค์กรโดยรวม ปฏิบัติงานด้วยความเสียสละ อุตสาหะด้วยการนำนักศึกษาออกภาคสนาม ใช้ชีวิตและการทำงานเป็นทีมที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและคณะ ในระหว่างการออกภาคสนามเป็นส่วนสำคัญที่สอนให้นักศึกษามีสำนึกสาธารณะ จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน เห็นคุณค่าของชีวิตที่เสียสละต่อส่วนรวม

การปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม : ยึดมั่นในสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามตามกฎระเบียบและกฎหมาย มีคุณธรรม กล้าตัดสินใจและยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เสียสละ ไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม มุ่งผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพ และคุณภาพของงาน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม และไม่เลือกปฏิบัติโดยการใช้ความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว ดำรงตนเป็นแบบอย่างด้วยการเป็นข้าราชการที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายโดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อได้สัมภาษณ์ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงยศ วีระทวีมาศ อาจารย์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองรู้สึกดีใจว่าผลการทำงานที่เราได้ทำมาโดยตลอดนั้นเป็นไปในแนวทางที่มีผู้เห็นว่ามีประโยชน์และอยู่ในกรอบของคุณธรรมที่สังคมและองค์กรยอมรับ  เนื่องจากกรอบของรางวัลไม่ได้เน้นผู้ที่มีความรู้ความสามารถแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมและมีวิถีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง  ทั้งในแง่ของการประพฤติตนในฐานะปัจเจกบุคคลและในฐานะที่สัมพันธ์กับผู้ร่วมงานในองค์กรและผู้คนรอบข้างด้วย  จึงรู้สึกภูมิใจว่าเราได้ทำงานและดำเนินชีวิตในแนวทางที่เหมาะสมแล้วระดับหนึ่งในฐานะคนทำงานธรรมดาคนหนึ่ง    และท่านได้วางแนวคิดในการทำงานในคณะและแนวคิดในการสอนนักศึกษาว่า เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานซึ่งก็คือปรัชญาเชิงอุดมคติของการงาน  ในเบื้องต้นคิดว่าการงานทั้งหลายทั้งปวงคือโอกาสของการสร้างบุญญาบารมี กล่าวอย่างง่ายๆก็คือ การมองเห็นการงานเป็นวิถีชีวิตที่จะต้องมีธรรมเพื่อทำชีวิตของเราให้ดี ดีในที่นี้หมายถึงว่ามันต้องเป็นกรรมดี  ต้องทำด้วยความซื่อสัตย์จริงใจ  เพื่อให้งานนั้นบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้  และการงานนั้นจะเป็นส่วนสำคัญที่จะย้อนให้ผลต่อการพัฒนาตนเองของตัวเราด้วย ซึ่งการพัฒนานี้ก็รวมไปถึงการพัฒนาจิตใจด้วย ไม่ใช่เพียงความรู้หรือทักษะเท่านั้น  เช่น การรู้จักอดทน อดกลั้น การให้อภัย การเสียสละ เป็นต้น

การแสวงหาความรู้พื้นฐานและบริบทที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งจำเป็น  เช่น เครื่องมือเทคโนโลยีสนับสนุนต่าง ๆ ก็ต้องเรียนรู้  และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามความเหมาะสม  การบูรณาการทักษะต่างๆเข้ามาในงานก็เป็นส่วนสำคัญต่อสิ่งที่เราทำนั้นอยู่ตลอดเวลาก็  คือจะระลึกอยู่เสมอว่าคนเรามีความรู้ความสามารถไม่เท่ากัน  เราก็ต้องเรียนรู้ว่าความสามารถของเราส่วนใดที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือหรือเสริมเติมจากผู้ร่วมงานหรือเครือข่ายมีความรู้ความสามารถที่อาจจะช่วยเหลือเราได้ ให้เข้ามาช่วยดำเนินการ  การอ่อนน้อมถ่อมตนและประนีประนอมเพื่อให้ปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆเข้ามาสนับสนุนได้มากที่สุดจึงเป็นสำนึกที่คิดถึงอยู่เสมอ  ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ตามไปด้วย

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ  การมองเห็นความเป็นมนุษย์  เมื่อเรารู้ว่าความสามารถของมนุษย์ไม่เท่ากัน เราต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน จึงต้องระลึกอยู่เสมอว่าทุกคนมีค่าความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน จึงไม่ควรดูหมิ่นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ต่ำกว่า หรือไม่หลงตามผู้ที่มีอำนาจหน้าที่สูงกว่าจนไม่อาจแยกแยะดีชั่วได้ ซึ่งการทำงานต่างๆต้องมีความยืดหยุ่นและมีความรู้สึกว่าสนุกสนานมีความสุขในการทำงานด้วย  ซึ่งความรู้สึกมีความสุขในการทำงานจะเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นอกจากจะมีประโยชน์กับผู้อื่นแล้ว เรายังได้ความอิ่มใจ  ความสุขจากงานนี้ทำให้ความยุ่งยาก หรือความเครียดต่างๆลดน้อยถอยลงไปมาก   ทำให้มองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ  แม้บางอย่างไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็คิดว่าการได้ทำหรือกระบวนการของมัน ก็ให้ประสบการณ์และการเรียนรู้ใหม่ ๆ ซึ่งก็ดีกว่าไม่ได้ทำ

ด้านการสอน

ในการสอนหนังสือนั้น  จะเอาความรู้และปัญญาเป็นตัวตั้งอยู่เสมอ  คือทำอย่างไรนักศึกษาที่เรียนจะมีสติปัญญาคิดได้  ไม่ใช่แค่ลอกเลียนแบบ  และมีสำนึกที่ดีต่อวิชาความรู้  ดังนั้นเวลาสอน  จึงมักจะชี้แนะจนถึงระดับที่เป็นประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเนื้อหาบทเรียนนั้นๆ  และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการอยากเรียนรู้เพื่อที่จะได้ศึกษาได้ด้วยตนเองต่อไปในอนาคต  ไม่ใช่จบภาคการศึกษาแล้วก็เลิกสนใจ

เนื่องจากต้องสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โทและเอก  สิ่งสำคัญก็คือต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและความก้าวหน้าทางวิชาการให้มีความรู้เท่าทัน  และหาความรู้ที่จำเป็นรวมไปถึงทักษะใหม่ ๆ ด้วย  ซึ่งต้องอ่านหนังสือมากทั้งจากสื่อต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจลักษณะสังคมร่วมสมัย และหนังสือหรือเอกสารทางวิชาการอื่น ๆ  เพื่อเข้าใจทัศนคติของคนรุ่นใหม่  เพื่อให้ความสัมพันธ์เป็นไปด้วยดี

การสอนจะไม่ได้เน้นผลสัมฤทธิ์ที่ผลการสอบเพียงอย่างเดียว  แต่จะพยายามสอดแทรก คุณธรรมจริยธรรมหรือประสบการณ์ที่เป็นความทรงจำเชิงปัญญา  เนื่องจากความสำเร็จของการศึกษาไม่อาจวัดได้แค่การสอบเมื่อจบการศึกษาในแต่ละภาค  ในหลายกรณีประสบการณ์ตรงในการฝึกฝนต่างๆหรือการฟังการบรรยายที่ดี  อาจเป็นความทรงจำที่กลายเป็นสำนึกในอีกหลายปีข้างหน้า  เมื่อเขาต้องเผชิญกับสถานการณ์บางอย่าง  ความทรงจำทางปัญญาเหล่านั้นอาจจะผุดขึ้นมาและทำให้เขาสามารถจัดการกับการงานนั้นได้  หรือความทรงจำอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้ศึกษาด้วยตนเองต่อเนื่องต่อไปในอนาคตและเป็นการศึกษาตลอดชีวิตได้

ข้อมูล : ฝ่ายการเจ้าหน้าที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาพ   : ศิริวุฒิ รสหอม
ข่าว    : กรรรภัสส์ สิริเกียรติ

Scroll to Top