“เมดิคัลฮับ” ม.ขอนแก่นงบ 4,346 ล้านบาทเริ่มสร้างแล้ว คาดแล้วเสร็จต้นปี 68

สำนักข่าว : mgronline

URL : https://mgronline.com/local/detail/9640000012653

วันที่เผยแพร่ : 8 ก.พ. 2564

“เมดิคัลฮับ” ม.ขอนแก่นงบ 4,346 ล้านบาทเริ่มสร้างแล้ว คาดแล้วเสร็จต้นปี 68

ศูนย์ข่าวขอนแก่น – “เมดิคัลฮับ” คืบหน้า ม.ขอนแก่นประเดิมพิธีบำเพ็ญกุศลก่อนลุยก่อสร้างอาคารศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศ เผยเป็นรูปแบบอาคาร 20 ชั้นและคอมเพล็กซ์ มีเตียงผู้ป่วยเพิ่มอีก 600 เตียง วงเงินก่อสร้าง 4,346 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จต้นปี 2568

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ลานอาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอนุสรณ์ (ตึก สว.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล เป็นประธานพิธีบำเพ็ญกุศลเพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พระเดชพระคุณ โดยมีหลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก เมตตาเป็นองค์ประธานในพิธีสวดมนต์ บริเวณจุดก่อสร้างอาคาร

มี รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ พร้อมด้วยอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บุคลากรคณะแพทย์ ตลอดจนพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ร่วมพิธีจำนวนมาก

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศ ว่า จากการที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นศูนย์กลางรับส่งผู้ป่วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงบางส่วนของจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่างนั้น แต่ละปีมีผู้ป่วยจำนวนมากมาเข้ารับบริการ แบ่งเป็นผู้ป่วยนอกประมาณ 1,000,000 คนต่อปี และผู้ป่วยใน 52,000 คนต่อปี

แม้จะขยายการบริการจนมีขนาด 1,400 เตียง แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้ ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 ได้อนุมัติหลักการให้คณะแพทยศาสตร์ศึกษาความเป็นไปได้และริเริ่มโครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สามารถตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพชั้นเลิศ (Medical hub) ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สามารถให้บริการอย่างเพียงพอและเป็นการแก้ปัญหาสุขภาพ และใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข พัฒนาการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยความร่วมมือของคณะวิชาในศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ ตลอดจนสถาบันในต่างประเทศ

อาคารศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศ ประกอบด้วยอาคารสนับสนุนบริการทางการแพทย์ อาคารจอดรถ และอาคารเรือนพักญาติ รวมพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 197,424 ตารางเมตร ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,346,357,200 บาท ภายหลังเสร็จสิ้นโครงการจะช่วยยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้ทัดเทียมนานาชาติ รวมถึงลดปัญหาความไม่เพียงพอของปริมาณเตียงผู้ป่วย

ขณะที่ด้านการเรียนการสอน จะเพิ่มศักยภาพการผลิตผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์สาขาต่างๆ รวมถึงบุคลากรที่สำคัญทางการสาธารณสุข นอกจากนี้ ด้านการวิจัย จะสามารถนำข้อมูลจากการดูแลผู้ป่วยมาสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ สร้างเครือข่ายการทำวิจัยร่วม และสร้างงานวิจัยที่แก้ปัญหาสาธารณสุขให้ประเทศได้

สำหรับอาคารศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการลงนามสัญญาก่อสร้างไปเมื่อ 15 กันยายน 2563 มีบริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง พร้อมด้วยบริษัท อรุณ ชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัด เป็นบริษัทผู้ควบคุมงานก่อสร้าง รูปแบบก่อสร้างเป็นอาคาร 20 ชั้น และคอมเพล็กซ์ รองรับผู้ป่วยจำนวน 600 เตียง กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จต้นปี 2568

โครงการศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ มข.ถือเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วงเงินก่อสร้าง 4,346 ล้านบาท เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีพื้นที่บริการเพิ่มขึ้นอีก 120,000 ตารางเมตร ทำให้สามารถขยายบริการทางการแพทย์ มีเตียงผู้ป่วยในเพิ่มอีกกว่า 600 เตียง มีห้องผ่าตัดเพิ่มอีก 25 ห้อง และห้อง ICU อีก 117 เตียง นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังมีเรือนพักญาติอีก 400 ยูนิต และอาคารจอดรถอีก 1,000 คันด้วย

โครงการนี้ก่อสร้างบนพื้นที่ประมาณ 32 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 8 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานน้ำบาดาลเขต 4 ขอนแก่น 24 ไร่ ซึ่งได้คืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์เพื่ออนุญาตให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นใช้ก่อสร้างโครงการดังกล่าว

ขณะเดียวกัน สามารถเพิ่มการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อีกปีละ 150 คน สามารถขยายการสร้างงานวิจัย และนวัตกรรมทางการแพทย์อีกจำนวนมาก นับเป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมถึงภูมิภาคข้างเคียงได้อีกด้วย

Scroll to Top