วันที่ 26 มกราคม 2564 เวลา 15.00-16.30 น. ณ ห้องวิทยวิภาส2 ชั้น 2 อาคารวิทยวิภาส คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย ผศ.ดร.สมเกียรติ ศรีจารนัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้บริหารและคณาจารย์ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคอีสาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ตัวแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตัวแทนเทศบาลนครขอนแก่น ตัวแทนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรม ประธานหอการค้า จังหวัดขอนแก่น ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 กระทรวงอุตสาหกรรม และพัฒนาการจังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมประชุมหารือความร่วมมือ เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัล ไปช่วยพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมในพื้นที่ ให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากยิ่งขึ้น
จากปัญหาของนักวิจัยที่ผลิตผลงานวิจัย นวัตกรรมจำนวนมาก แต่ไม่สามารถออกสู่ภาคธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรมได้ ดังนั้นจึงได้เกิดการประชุมหารือความร่วมมือ เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัล ไปช่วยพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมในพื้นที่ ให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากยิ่งขึ้น โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ดร. สมศักดิ์ จังตระกุล ได้ให้นโยบายกับที่ประชุม ความว่า โจทย์วิจัยนั้นหากได้มาจากทางพื้นที่ จะสามารถช่วยให้เกิดประโยชน์ได้มาก ทั้งนี้ต้องตั้งเป้าไปให้ถึงปลายทางคือความต้องการของตลาดด้วย ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ได้ให้ความเห็นว่าหากมีฐานข้อมูลจากทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นว่ามีผลงานวิจัยด้านใดบ้าง จะได้นำไปจับคู่ความต้องการกับภาคเอกชนได้
ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคอีสาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้ให้ความเห็นว่า จังหวัดขอนแก่นนั้นแท้จริงแล้ว โดดเด่นด้านดิจิทัล ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นดิจิทัลฮับของภาคอีสาน ที่ได้กำลังคนมาจากคณะวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก ต่อไปภายภาคหน้าหากมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง จะมีการผลิตกำลังคนด้านดิจิทัลจากทางอีสานเพื่อสามารถป้อนไปสู่ EEC ได้ด้วย
ส่วนความร่วมมือที่จะเกิดกับทางวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาให้ชุมชนเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถสร้างอาชีพได้อย่างยั่งยืน ทางพัฒนาการจังหวัดขอนแก่นได้ให้ข้อมูลว่าจังหวัดขอนแก่นนั้นมีหมู่บ้านจำนวนมากกว่า 2000 หมู่บ้าน มีความโดยเด่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ซึ่งทางพัฒนาการจังหวัดจะร่วมมือช่วยประสานให้เกิดการทำงานร่วมกับระหว่างนักศึกษา อาจารย์และวิสาหกิจชุมชนเพื่อมุ่งเป้าสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยวิทยาศาสตร์ให้ได้
ทางฝั่งของหน่วยงานผู้สนับสนุนได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายสนับสนุนตามอำนาจหน้าที่เดิมอยู่แล้ว และมีความยินดีร่วมกันวางแผนเพื่อให้เกิดกิจกรรมที่เห็นประโยชน์เชิงประจักษ์ให้ครอบคลุมถึงภาคส่วนที่แต่ละหน่วยงานดูแล เช่น การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล การให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำในวิสาหกิจต่าง ๆ การส่งเสริมให้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นต้น
ข้อสรุปของการประชุม จะเกิดข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้ง 10 องค์กรนี้ เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตามมา อาทิ การเกิดแพลทฟอร์มของความเชี่ยวชาญฝั่งวิชาการเพื่อให้เป็นที่รู้จักกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักศึกษาระดับปริญญาตรีสามารถเข้าฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรม/วิสาหกิจ/ชุมชน โดยได้รับโจทย์จริง เช่น การสร้างสารสนเทศระบบการผลิต การวัดปริมาณสารเคมีของผ้าไหมมัดย้อม การผลิตข้าวทนเค็มให้ได้ปริมาณมา เพื่อให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์เรียนรู้ และเตรียมความพร้อมออกสู่ภาคการผลิต เป็นกำลังหลักในการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างมูลค่าภาคการผลิตของจังหวัดขอนแก่นและภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เกิดความเข้มแข็งต่อไป
ผู้ให้ข่าว : รศ.ดร. รินา ภัทรมานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มข.
ภาพข่าวโดย : สุขทวี คลังตระกูล