สำนักข่าว: บ้านเมือง
URL: https://www.banmuang.co.th/news/region/220555
วันที่เผยแพร่: 24 ม.ค. 2564
เปิดเส้นทางความสำเร็จ ! Science Park มข. พาผลงาน “Maker Greenovation Platform” ตระหง่านคว้าชัย 1 ใน 10 ผลงานที่ดีที่สุดของโลก ปี 2020 จากเวที อุทยานวิทยาศาสตร์โลก IASPที่แข่งขันในโครงการ Inspiring Solutions Programme จากงานประชุม The Virtual IASP World Conference 2020 ครั้งที่ 37 ณ ประเทศสเปน
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่า นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของประชาคมมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมไปถึงคนไทยทั้งประเทศที่ผลงาน Maker Greenovation Platform จากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ติด 1 ใน 10 ของผลงานที่ดีที่สุด จากผลงานเข้าประกวดกว่า 200 ผลงานทั่วโลก ที่แข่งขันในโครงการ Inspiring Solutions Programme จากงานประชุม The Virtual IASP World Conference 2020 ครั้งที่ 37 ณ ประเทศสเปน โดย สมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์และเขตนวัตกรรมนานาชาติ หรือ IASP (International Association of Science Parks and Areas of Innovation) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 3 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้นมีองค์กรสมาชิกเข้าร่วมการประชุมกว่า 350 องค์กร จาก 76 ประเทศทั่วโลก
ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวเรือใหญ่ ของผลงาน Maker Greenovation Platform เปิดเผยเส้นทางความความสำเร็จของคนไทยในเวทีโลก ว่าการได้รับรางวัล IASP เกิดจากความพยายาม และการวางแผนการทำงานเพื่อพิชิตเป้าหมายการปักหมุด อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเวทีโลก ก่อนหน้านี้ถึง 2 ปี
“สมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์และเขตนวัตกรรมนานาชาติ หรือ IASP เป็นองค์การระดับโลกที่เกิดจากความร่วมมือขององค์กรหน่วยงาน Science Park ทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน และ พัฒนานวัตกรรม ซึ่งแต่ละประเทศจะมีหน่วยงาน Science Park อยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างดี มีรายได้ GDP สูง ในประเทศไทย ณ ปัจจุบันมี Science Park อยู่ทั้งหมด 16 แห่งทั่วประเทศ มีเพียง 3 Science Park ที่เป็นสมาชิก (IASP) คือ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สมาชิกประเภทภาคีเครือข่าย) โดย อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกปี 2020 เป็นปีแรก ซึ่งการจะเข้าเป็นสมาชิกของ Science Park ต้องมีมาตรฐานสูง ไม่ได้เพียงแค่ส่งใบสมัครและยื่นผลงานก็จะได้รับการยอมรับในทันที แต่จะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบที่ละเอียดตั้งแต่การบริหารจัดการองค์กร พนักงานในองค์กรที่มีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรม กลไกหรือกิจกรรมที่สร้างสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ขั้นสูงที่ให้บริการเอกชน อาคารและพื้นที่สำหรับทำวิจัย ที่ใช้เกณฑ์วัดว่ามีคุณภาพได้มาตรฐานสากลหรือไม่ รวมไปถึงการพิจารณาว่าองค์กรมีการทำงานร่วมกับ Science Park อื่นๆ หรือไม่”
ผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวอีกว่าในปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำทุกอย่างให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมไปถึงได้ทำงานร่วมกันกับ Science Park ต่างประเทศมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ การทำงานร่วมกันในระดับ International เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ เป็นองค์ประกอบในภาพรวมที่เป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความพร้อมในการเข้าเป็นสมาชิกของ Science Park หรือไม่ ฉะนั้นการที่ Science Park มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เป็นสมาชิกของสมาคม IASP จึงถือได้ว่ามหาวิทยาลัยฯมี Science Park ที่สมบูรณ์แบบ และเป็นที่ยอมรับขององค์กรโลก ซึ่งเราได้ทำต่อเนื่องมากว่า 4 ปี
ดร.อภิรชัย กล่าวด้วยว่าสำหรับสมาคม IASP จะมีการจัดประกวดทุกๆ ปี เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม ในทุกๆ ปีสมาคม IASP จะมีการเปลี่ยนแปลงหัวข้อในการประกวดให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ในปี 2020 IASP จัดการประกวดภายใต้โครงการ Inspiring Solutions Programme เพื่อเฟ้นหาแนวคิด หรือ ผลงานที่ช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาประชาคมโลก ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น น้องใหม่ที่เพิ่งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกปีแรก ได้ส่งผลงาน “Maker Greenovation” ที่มีแนวคิดและกลไกในการสร้างผู้ประกอบการ ที่สร้างนวัตกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน ร่วมชิงชัยไปพร้อมๆ กับการชิมลาง
ดร.อภิรชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าผลปรากฏว่าโครงการ “Maker Greenovation Platform” นี้ ไม่เพียงสร้างประวัติศาสตร์หน้าแรก ของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผลงานปฐมฤกษ์ที่ถูกส่งประกวด แต่ยังสร้างประวัติศาสตร์หน้าแรกของประเทศไทยที่ได้เป็น 1 ใน 10 หน่วยงานที่มีผลงานเชิงประจักษ์ที่ดีที่สุดของโลก ในปี 2020 โดยมี 8 ประเทศ ยักษ์ใหญ่ อย่าง สหรัฐอเมริกา จีน ปากีสถาน รัสเซีย อิตาลี สเปน สวีเดน และบราซิล ครองตำแหน่งในรอบเดียวกัน
“กุญแจสำคัญที่ทำให้ Maker Greenovation Platform ประสบความสำคัญในเวทีใหญ่ครั้งนี้ มาจากแนวคิด ที่ต้องการสร้างคนเพื่อให้คนไปสร้างนวัตกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ทุก ๆ Science Park ทั่วโลก สามารถนำไปใช้ได้”ดร.อภิรชัย กล่าว.