มข. คิดค้น อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกเพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ สุดยอดนวัตกรรม ! คว้ารางวัลประกาศเกียรติคุณจากสภาการวิจัยแห่งชาติ 2563 ตัวแทนประเทศไทยมุ่งประชันนวัตกรรมระดับโลกปีนี้

ประเทศไทยประสบกับปัญหาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ที่มีอัตราสูง  โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเกิดสูงที่สุดในประเทศ   ซึ่งมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 600 รายต่อปี ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งด้านร่าง กาย ด้านจิตใจ  รวมไปถึงการสื่อสารร่วมกับคนในสังคม

มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงคิดค้น อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ หรือ Nasal Creator Device  โดยทีมวิจัยสหสาขาวิชาชีพจากคณะทันตแพทยศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์   และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ต้องการใช้นวัตกรรมทางการแพทย์ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้น

รศ.ทพ.ดร. พูนศักดิ์ ภิเศก หัวหน้าทีมผู้คิดค้นอุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

                รศ.ทพ.ดร. พูนศักดิ์ ภิเศก หัวหน้าทีมผู้คิดค้นอุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า การออกแบบอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ได้ทำการวิจัยร่วมกันในลักษณะสหสาขาวิชาชีพ   ซึ่งเริ่มจากนักศึกษาทันตแพทย์ระดับปริญญาตรีได้ทำการศึกษาออกแบบพัฒนาเครื่องมือเป็นตัวต้นแบบ  ตามมาด้วยการศึกษาวิจัยต่อยอดทางคลินิกโดยนักศึกษาหลังปริญญาในหลักสูตรทันตแพทย์ประจำบ้านสาขาทันตกรรมจัดฟันได้ศึกษาผลของอุปกรณ์นี้ในเชิงคลินิก ซึ่งเป็นการศึกษาต่อเนื่องที่ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1 ปีครึ่ง โดยคณาจารย์จากคณะทันตแพทยศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์   และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย

                “คนไข้ปากแหว่งเพดานโหว่ หลังจากที่เราทำการรักษาไปแล้ว เขายังขาดความมั่นใจ รู้สึกว่ายังมีจมูกที่ผิดรูปร่าง ดังนั้น นักวิจัยจึงได้วางแผนการรักษาออกแบบและพัฒนาเครื่องมือ  ที่จะทำให้รูปร่างจมูกคนไข้ดีขึ้นโดยใช้อุปกรณ์ตัวนี้ในการรักษา ร่วมกับการเย็บแต่งจมูกและริมฝีปากครั้งแรกในช่วงแรกเกิด ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่มีความสำคัญมากที่สุด  เดิมทีอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ยังไม่มีการผลิตขึ้นมาในประเทศ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาชิ้นละ 3,500 – 4,000 บาท ต่อชิ้น ซึ่งคนไข้ปากแหว่งเพดานโหว่ 1 คนต้องใช้ประมาณ 3 ชิ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อผู้ป่วย 1 คน อยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท เมื่ออุปกรณ์นี้สามารถผลิตได้สำเร็จจะทำให้ลดการนำเข้าจากต่างประเทศและต้นทุนการผลิตถูกลง เฉลี่ยชิ้นละ 200-300 บาท  ทำให้ค่าอุปกรณ์ในการรักษา ลดลง 10 เท่า สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา” รศ.ทพ.ดร. พูนศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ยังมีคุณสมบัติโดดเด่น หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ขนาดของอุปกรณ์ที่มีความเหมาะสมกับลักษณะของจมูกของคนไข้มากกว่า เมื่อเทียบกับขนาดของอุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศ   และอุปกรณ์ผลิตจากซิลิโคนทางการแพทย์ที่เข้ากันกับเนื้อเยื่อในร่างกาย มีความปลอดภัยสูง  ตัวอุปกรณ์ไม่ต้องใช้ เทป ผ้า ในการติดยึด ลดการระคายเคืองจากการใช้เทปในการยึดติดกับใบหน้า  และ ผลิตจากโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐาน อย. เพราะฉะนั้นจึงเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัยสูง  ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ให้การรับรองเครื่องมือนี้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ความสามารถในการรักษา ปลอดภัย และได้มาตรฐาน จึงอนุมัติให้สถานพยาบาลทั่วทุกประเทศได้ทดลองใช้ และยังได้ส่งต่อไปในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา

รศ.ทพ.ดร. พูนศักดิ์ ภิเศก หัวหน้าทีมผู้คิดค้นอุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัลประกาศเกียรติคุณจากสภาการวิจัยแห่งชาติ

“หลังทดสอบใช้งานจริงกับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ส่งผลให้อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ คว้ารางวัลการันตีความยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรมมากมาย อาทิ รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2562 รางวัลประกาศเกียรติคุณจากสภาการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2563 และยังได้รับคัดเลือกจากสภาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติให้เป็นนวัตกรรมไทยในการประชันนวัตกรรมระดับโลก ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยหากบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ ให้ความสนใจ อาจสามารถผลิตและจำหน่ายได้ทั่วโลก แน่นอนว่า เราไม่ได้หวังในเรื่องของผลกำไรเชิงพาณิชย์ แต่สิ่งสำคัญที่เราคาดหวังคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ รวมถึงการสร้างรอยยิ้มที่สมบูรณ์ให้กับประชากรโลกก็เพียงพอแล้ว”  รศ.ทพ.ดร. พูนศักดิ์ กล่าว

เรื่อง : รวิพร สายแสนทอง  วนิดา บานเย็น  ภาพ : ชายชาญ หล้าดา

หมายเหตุ : ถ่ายทำในเดือน กุมภาพันธ์ 2563

Scroll to Top