มข.จัดงาน “วันความดันโลหิตสูงโลก” พบคนอายุน้อยป่วยเพิ่มขึ้น เสี่ยงสุขภาพเสื่อมก่อนวัย

วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมเนื่องในวันความดันโลหิตสูงโลก” (World Hypertension Day) ณ มุมสร้างสุข อาคารกัลยาณิวัฒนานุสรณ์ (กว.) ชั้น 1 โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ เทียมเก่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นประธานในพิธี และกล่าวเปิดงาน โดยได้เน้นว่าการตรวจวัดความดันโลหิตเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด เพราะโรคความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบ หากไม่ตรวจย่อมไม่ทราบและไม่ได้รับการรักษา นอกจากนั้น ศาสตราจารย์สมศักดิ์ เทียมเก่า ยังได้ให้ความเห็นว่าหากทุกบ้านมีเครื่องวัดความดันโลหิต 1 เครื่อง ใช้วัดความดันทุกคนในบ้าน มีประโยชน์ในการป้องกันโรคและคุ้มค่าต่อสุขภาพมาก หรือหากไม่มี ถ้าพบจุดวัดความดันโลหิตที่ใดแนะนำให้เข้าไปวัดเพื่อทราบค่าความดันโลหิตของตนเอง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ เทียมเก่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงแพรว  โคตรุฉิน  อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ขณะที่ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงแพรว  โคตรุฉิน  อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามคณะกรรมการสหสาขาวิชาชีพ โรคความดันโลหิตสูง โรงพยาบาลศรีนครินทร์: PCT Hypertension  กล่าวว่า วันความดันโลหิตสูงโลกเป็นวันสำคัญในการสร้างความตระหนักถึงโรคดังกล่าว เนื่องจากพบปัญหาผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการ จึงไม่คิดว่าเป็นโรคสำคัญ ทั้งยังไม่มีการตรวจวัดความดันจึงไม่ทราบความเสี่ยง สุดท้ายต้องมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เกิดเหตุเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ (stroke) หรือมีภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ดังนั้น วันนี้จึงเป็นวันที่ทั่วโลกพยายามชักชวนทุกคนมาวัดความดันให้ได้มากที่สุด และให้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคความดันโลหิตสูงให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบันมีผู้ป่วยอายุน้อยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น บางเคสอายุเพียง 30 ปีก็มีความดันโลหิตสูงแล้ว โดยหาสาเหตุอื่น ๆ ไม่พบ แต่มีปัจจัยเสี่ยง คือ มีน้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน หรือนอนกรน ซึ่งอาจเกิดจากไลฟ์สไตล์คนปัจจุบันที่สั่งอาหารมารับประทานได้ตลอดเวลา ควบคู่กับการไม่ออกกำลังกาย คือใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่ง 

“ความดันโลหิตสูงเป็นโรคแห่งความเสื่อมตามเวลา ช่วงแรก ๆ อาจไม่เป็นอะไร แต่หลังจากนั้น 10-20 ปี อาจจะเริ่มมีไตเสื่อม มีโรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นโรคสมอง หรือโรคหัวใจ ซึ่งในอดีตพบผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคนี้ ทำให้มีร่างกายและสุขภาพเสื่อมตามวัย แต่ปัจจุบันคนอายุ 30 ปีต้น ๆ เริ่มป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เมื่ออายุ 50 ปี ก็จะมีสุขภาพเสื่อมถอยคล้ายคนอายุ 60-70 ปีแล้ว ดังนั้น ยิ่งเป็นเร็วยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดความเสื่อมของร่างกายตั้งแต่อายุยังไม่มาก บางรายมีไตวายต้องไปฟอกไตตั้งแต่อายุ 50-60 ปี การใช้ชีวิตก็จะลำบากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรงพยาบาลศรีนครินทร์มีการพัฒนาและศึกษาแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการล่าสุดสำหรับรักษาผู้ป่วยที่รักษาวิธีการอื่นแล้วไม่หาย ก็คือ การจี้เส้นประสาทไตเพื่อลดความดันโลหิต (renal nerve denervation) ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาหลายชนิดแล้วไม่ได้เป้าหมาย และเริ่มมียาใหม่ ๆ เช่น ยาที่ใช้ควบคุมการแสดงออกทางพันธุกรรมของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกลไกการเกิดความดันโลหิตสูง (RNA interference) แต่สุดท้ายปัญหาสำคัญคือ ไม่ว่าการรักษาจะก้าวหน้าไปเท่าไร แต่สุดท้ายหากคนไข้ไม่เข้ารับการรักษาโอกาสที่จะดีขึ้นก็ยาก ดังนั้น จึงขอฝากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการวัดความดันโลหิต มีเครื่องวัดความดันโลหิต 1 บ้าน 1 เครื่อง และเข้ารับการรักษาอย่างจริงจังเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

โครงการ “หมอห่วงใย”

ทั้งนี้ นอกจากการให้ความรู้ด้านการวัดความดันโลหิตและความสำคัญของโรคแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมมากมาย ทั้งการตรวจคัดกรองวัดความดันโลหิต สาธิตการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การปั๊มหัวใจ การช่วยเหลือผู้อื่นกรณีอาหารติดคอ หรือกิจกรรมเต้นเพื่อสุขภาพ การสาธิตอาหารสุขภาพสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง แจกเครื่องดื่มน้ำกระเจี๊ยบและน้ำเลม่อนตะไคร้ การใช้ยาที่ถูกต้อง การเล่าประสบการณ์ดีดีของผู้ป่วยต้นแบบที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีและควบคุมความดันโลหิตได้ พร้อมมีบูธเครื่องวัดความดันโลหิตในโครงการ “หมอห่วงใย” ตรวจวัดเป็นประจำรู้ค่าความดัน ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง และหัวใจวาย  เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมารับเครื่องวัดความดันได้ฟรี หรือผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเพื่อรับเครื่องวัดความดันโลหิตได้ โดยใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

Scroll to Top