ด้วยภาวะการณ์ปัจจุบันเราจำเป็นต้อง Social distancing ฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงจัด Virtual Training เทคโนโลยีสำหรับการนำงานไปทำที่บ้าน (Work from Home) โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 น.
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทน อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวเปิดงานผ่านระบบออนไลน์ มอบนโยบายจากประกาศของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง มาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด – 19 (ฉบับที่ 5) การปฏิบัติงานที่บ้าน ( work from home ) นำไปสู่การออกประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 546/2563 เรื่อง การปฏิบัติงานที่บ้านของบุคลากร กรณีเพื่อการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) (17 มี.ค. 63)
สืบเนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 ตามการระบาดวิทยา ถึงแม้ประเทศไทยยังอยู่ในการระบาดระดับ 2 แต่เราพยายามรักษาสถานการณ์การเข้าระดับ 3 ให้ช้าที่สุด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องช่วยกัน คือ ลดการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่ง social distancing การเว้นระยะห่างจากสังคม เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการรับมือปัญหาดังกล่าว ในการนี้ได้ใช้นโยบาย work from home ที่มีจุดมุ่งหมายการลดคนในสถานที่ทำงานเพื่อลดความแออัด
“การอบรมวันนี้เป็นการปรับตัว ในภาวะวิกฤติ เพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตของบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน ฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัลจึงจัดอบรม Virtual Training เทคโนโลยีสำหรับการเอางานไปทำที่บ้าน (Work from Home) เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง ซึ่งประกาศที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นออกไปเป็นแนวทางกว้างๆที่ทำให้เรามีเวลาปรับตัวพอสมควร ฉะนั้นการอบรมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อม ต้องขอขอบคุณทางฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล และ บุคคลากรที่กำลังชมอยู่ที่กำลังเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน เชื่อว่าท่านที่อบรมแล้วจะนำไปเผยแพร่ต่อ สอนผู้อื่นได้ ท่านถือเป็น Change Agent ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่จะนำความรู้ไปบอกต่อผู้อื่น เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้โครงการ work from home ประสบความสำเร็จ”รศ.นพ.ชาญชัย กล่าว
10.20 น. ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล กล่าวถึงประกาศของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการกำหนดช่องทางสำหรับการสื่อสารในกรณีที่มีการ work from home คือ https://workplace.kku.ac.th ซึ่งเป็น social network ของมหาวิทยาลัย โดยขอให้บุคลากรเข้าร่วมในกลุ่มดังกล่าว ที่สามารถเข้าปรึกษาหารือ หรือ ใช้เครื่องมือในการสื่อสาร รวมไปถึงแนวปฏิบัติ ประกาศต่างๆ การแนะนำแต่ละหน่วยงานว่าจะต้องใช้เครื่องมือนี้อย่างไรบ้าง และ การติดตามการทำงานจะขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของแต่ละหน่วยงาน ผสานกับการใช้เทคโนโลยี การทำงานลักษณะนี้ยังเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยของกระทรวง ICT เดิมที่ได้มีประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2557
“ในการทำงานที่บ้านมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ดังต่อไปนี้ 1. บุคคลที่ใช้เครื่องมือต้องสามารถแสดงตัวตนว่าเป็นผู้มีหน้าที่เข้าถึงข้อมูล ด้วยระบบบัญชีผูู้ใช้ที่มหาวิทยาลัยออกให้เท่านั้น 2 .การยืนยันตัวตน(Authentication) ต้องยืนยันด้วยระบบที่มหาวิทยาลัยจัดไว้ให้ในแต่ละระบบ เช่น ระบบ Single Sign On (https://sso.kku.ac.th/) ระบบ LDAP ระบบบัญชีผู้ใช้ KKUFMIS 3. ต้องไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นทำงานแทนตนเอง username หรือ password จะมีความสำคัญมากขึ้น จะต้องไม่ให้บุคคลที่ไม่มีหน้าที่ และ อํานาจในการเข้าใช้ระบบดําเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์แทน 4. รับผิดชอบการกระทำของตนเอง แม้ว่าจะเป็นการทำงานจากบ้าน แต่หากมีการ login เข้าระบบ จะหมายถึงการทำงานด้วยตัวท่านเอง เจ้าของบัญชีผู้ใช้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการกระทำนั้น 5. มีการบันทึกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ตามกฎหมาย(Computer Traffic Log)และมหาวิทยาลัยต้องสามารถเข้าถึงเพื่อตรวจสอบบันทึกข้อมูล จราจรทางคอมพิวเตอร์นั้นได้” ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้การทำงาน Work from home สำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วยอุปกรณ์ ระบบการทำงานดังนี้ คอมพิวเตอร์ หรือ โน๊ตบุ๊กเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจากที่บ้าน ช่องทางการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานโดยระบบ Workplace ซึ่งหากบุคลากรทุกคนสื่อสารผ่านทางช่องทาง ดังกล่าวจะทลายกำแพงการสื่อสารระหว่างในออฟฟิศและการทำงานที่บ้าน หากต้องการติดต่อกับใคร สามารถค้นชื่อ หรือ อีเมล์และติดต่อกันได้ทันทีทางข้อความ หรือ การโทร ใช้ google drive ในการทำงานร่วมกันโดยติดตั้ง google drive file stream และย้ายงานไปเก็บใน google drive ของตนเอง การติดตั้งโปรแกรม/ตั้งค่า VPN สำหรับผู้ใช้งาน KKUFMIS หรือ ระบบที่ติดตั้งเป็น intranet ต้องติดตั้ง vpn ซึ่งจะทำให้การทำงานที่บ้านมีสภาพแวดล้อมเหมือนกับทำงานที่โต๊ะในออฟฟิศสามารถเข้าซอฟแวร์ต่างๆของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเหมือนที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัย และหากต้องการสอบถามขอความช่วยเหลือในการทำงานที่บ้านผ่านทางระบบออนไลน์จะมีบุคลากรที่ช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลาผ่านทางช่องทาง https://kku.world/wfhsupport
ต่อจากนั้น 10.30 น. – 11.50 น. อบรมทั้งสิ้น 3 เรื่อง ประกอบด้วย
- การจัดการไฟล์ google drive file streams : drive G โดย ดร. กิตติ์ เธียรธโนปจัย ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ
- การใช้งาน workplace โดย ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล
- การประชุมออนไลน์ Hangouts Meet โดย ผศ. ดร.อนุชา โสมาบุตร รักษาการผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน
ทั้งนี้มียอดผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมออนไลน์จำนวน 240 คน และมียอดบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมใช้งานจริงแบบเรียลไทม์ จำนวน 220 คน คิดเป็นจำนวนร้อยละ 92 ซึ่งนับว่าบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการตื่นตัวเรียนรู้เทคนิควิธีการโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อเตรียมตัวทำงานที่บ้านอย่างมาก