มข.วิจัยเส้นทางเที่ยว สายธรรมชาติ-รักษ์ท้องถิ่น หนาวนี้เช็กอินที่ “คอนสาร”

กระแสท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมในปัจจุบันสร้างรายได้และรอยยิ้มให้ชุมชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่นเดียวกับ “อำเภอคอนสาร” จังหวัดชัยภูมิ จากเดิมแม้คนในพื้นที่ไม่ได้เล็งเห็นความสำคัญ แต่ปัจจุบันกลับถูกผลักดันจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างเม็ดเงินสร้างอาชีพหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่ได้โดยไม่ต้องจากบ้านเกิดไปทำงานแออัดกันในเมืองใหญ่

“อำเภอคอนสาร” จังหวัดชัยภูมิ  เมืองทางผ่านที่นักท่องเที่ยวมักมองข้าม  แต่กลับมีสถานที่ธรรมชาติและวัฒนธรรมซ่อนอยู่มากมาย  มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำมาสู่การทำวิจัย ณ คอนสารโมเดล : การท่องเที่ยวมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนไทคอนสาร โดย อ.ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวสถานที่แห่งนี้ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม

อ.ดร.แก้วตา กล่าวว่า  โดยหลักการมนุษย์จะอาศัยพื้นที่เดิมจนเกิดความเคยชิน จนมองไม่เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในวัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิศาสตร์ หรือแหล่งท่องเที่ยว ที่สามารถบูรณาการให้เกิดคุณค่าเชิงเศรษฐกิจได้   จากฐานการวิจัย พบสองฝั่งอำเภอคอนสารที่ถนนตัดผ่านนั้น ฝั่งหนึ่งมีศักยภาพเชิงนิเวศ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวที่ได้รับการเสนอให้เป็นพื้นที่มรดกอาเซียน ทั้งยังมีภูเขาหินปูน และถ้ำผามากมายจนได้ฉายา “เมืองร้อยถ้ำ”

อีกฝั่งเป็นพื้นที่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ชุมชนและผู้นำทางจิตวิญญาณได้นิยามให้ “คอนสารเป็นนครบาดาล” เพราะเป็นจุดชุมนุมของพญานาคสี่ตระกูล และเป็นเส้นทางบำเพ็ญบารมีของพระสายธรรมยุติ ขณะเดียวกันยังมีประเพณีบุญเดือนห้าบูชาน้ำผุด รวมถึงบุญเดือนหกกับการลงทรงองค์ปู่ฯ และขบวนแห่หัวตลกที่โดดเด่นเฉพาะตัวของไทคอนสาร

จุดเด่นที่ซ่อนเร้นอยู่ในท้องถิ่นถูกขับเน้นให้เห็นภาพชัดขึ้นสะท้อนกลางใจคนในชุมชน ผ่านกระบวนการถอดบทเรียนความสำเร็จของผู้ประกอบการชุมชน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมจัดการธุรกิจ ผ่านการเล่าเรื่องราว เพื่อรักษาและเพิ่มคุณค่าวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับเครือข่าย และชุมชน นำไปสู่การออกแบบโครงการ “ส่งเสริมทักษะผู้ประกอบการชุมชนเพื่อพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ”

 

อ.ดร.แก้วตา ยังอธิบายอีกว่า โครงการนี้ได้จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอาหารและโฮมสเตย์ ซึ่งประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและฝั่งที่มีศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเกษตร พร้อมสร้างพื้นที่ส่งเสริมการขายสินค้าทางวัฒนธรรม ขณะเดียวกันยังส่งเสริมการบริหารจัดการพื้นที่ท่องเที่ยว และอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติในพื้นที่เพื่อความยั่งยืนด้วย

              “การเลือกคอนสารมีเหตุผลเบื้องหลังที่มากไปกว่าการท่องเที่ยว คือ ทีมวิจัยและชุมชนต้องการสร้างสำนึกรักษ์ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำของเมือง ให้คอนสารเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการทรัพยากรท่องเที่ยว พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

เช็กแลนมาร์ก เส้นทางเที่ยว “คอนสาร” ครบจบในที่เดียว

ทางทีมวิจัยยังร่วมวางเส้นทางท่องเที่ยวด้วยแนวคิดนิเวศวัฒนธรรมซึ่งออกแบบเส้นทางตามจุดเด่นของชุมชน 2 ฝั่ง คือ ฝั่งวัฒนธรรม คือ วัดเจดีย์ซึ่งมีพระ 700 ปี เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวคอนสาร วัดถ้ำพญาช้างเผือก หรือชมวัดถาวรชัยศิริ แล้วไปต่อที่ชุมชนนวัตวิถีบ้านฝายดินสอ หรือจะเที่ยวตลาดน้ำชุมชนหัวนาม่วง และให้นักท่องเที่ยวได้ซึมซับมรดกทางวัฒนธรรมนี้ไปด้วยกันกับงานบุญในท้องถิ่น

ส่วนฝั่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เอาใจสายเดินป่า ปีนเขา วิ่งเทรล ที่อยากหนีเมืองที่วุ่นวายและอึดอัด ไปปล่อยใจสัมผัสธรรมชาติในป่าหมาก ชมธารน้ำผุดที่บ้านโนนจำปา ต.ห้วยยาง เส้นทางวิ่งเทรลสุดสวยแห่งหนึ่งในประเทศไทย ผ่านน้ำผุดทัพลาว ชมลำห้วยใหญ่บ้านดงบัง หรือ เวนีสอีสาน น้ำตกวังเดือนห้า ทุ่งกะมัง และเขื่อนจุฬาภรณ์ แล้วไปอิ่มอร่อยที่คาเฟ่และร้านอาหารที่น่าสนใจ เช่น เฮือนคำหมาก ฟาร์มปูนาแสนสวย บ้านสวน อ.ศิลป์ชัยฟาร์มสเตย์ และปิดท้ายด้วยเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร 9 ฮีโร่

            “เรามีมรดกทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่อนุรักษ์มาตั้งแต่โบราณ แต่ยังขาดหลักวิชาการทั้งการประชาสัมพันธ์และการตลาดมาดึงนักท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาช่วยตอบโจทย์และสร้างจุดแข็งให้ชุมชนได้”

วิจัยมนุษย์ฯ มข. เพิ่มคุณค่าพื้นที่   ผู้คนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน  


สอดคล้องกับ คุณธานี ศรีชัย เจ้าร้านอาหารและคาเฟ่ เฮือนคำหมาก หนึ่งในผู้ประกอบการ อ.คอนสาร ที่พร้อมจะเดินหน้านำองค์ความรู้ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปผลักดันอาหารถิ่น “คั่วหมู-คั่วเนื้อ” ให้เข้าไปครองใจนักท่องเที่ยวและยกระดับสู่สากลให้ได้ ควบคู่กับการพัฒนาเส้นทางวิ่งเทรลให้ตอบโจทย์และดึงดูดนักท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยไม่ต้องทยอยให้ลูกหลานหรือคนในพื้นที่วิ่งหางานทำในเมืองหลวง การสร้างมรดกทางวัฒนธรรมนอกจากจะได้สืบสานวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมแล้วยังทำให้ชาวบ้านมีรายได้พึ่งพาตัวเองได้จากการพัฒนาชุมชนตนเองเป็นแหล่งท่องเที่ยวดึงนักท่องเที่ยวให้มาจับจ่ายใช้สอย”

               “มาเที่ยวคอนสารได้ตลอด แต่ไฮไลต์คือหน้าหนาว เดือนธันวาคม ทุกคนจะได้สัมผัสธรรมชาติ นอนแคมป์ปิง หรือพักโฮมสเตย์อุดหนุนดคนในชุมชน ได้ทั้งชมธรรมชาติ เรียนรู้วิถีชุมชน ได้สุขภาพจากการวิ่งเทรล และยังได้มูกับเกจิวัดดังในพื้นที่ด้วย ชุมชนทั้ง 2 ฝั่งถนนใน อ.คอนสาร พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 2,000 ชีวิต มาเที่ยวกันเยอะ ๆ นะครับ”

ทั้งนี้ อ.ดร.แก้วตา ทิ้งท้ายว่า ความเป็นมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์นั้น มีคุณูปการต่อสังคมหลายมิติและหลายระดับ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการนำศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ ที่ผ่านมาคณะมนุษยศาสตร์ฯ ได้ทำงานวิจัยและบริการวิชาการในหลายลักษณะ บูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อลบภาพจำงานวิจัยขึ้นหิ้งหรือถูกตีตราว่างานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ฯ ไร้น้ำยา แต่ต้องเป็นงานวิจัยที่ต่อยอดไปสู่สังคมและสร้างประโยชน์ได้อย่างแท้จริง สอดคล้องกับการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและพัฒนาเพื่อสังคมตลอด 6 ทศวรรษของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ข่าว : ผานิต ฆาตนาค

Scroll to Top