มข.ปลื้ม เปิด“ศูนย์วิจัยชุมชนการบริบาล และดูแลผู้สูงอายุ ต.บ้านค้อ” รองรับปัญหาผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

มข.ปลื้ม เปิด“ศูนย์วิจัยชุมชนการบริบาล และดูแลผู้สูงอายุ ต.บ้านค้อ” รองรับปัญหาผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทางสังคมในการทำงาน เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

เครือข่ายวิจัยภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชนการบริบาลและดูแลผู้สูงอายุ ต.บ้านค้อ” และจัดพิธีเปิดศูนย์วิจัยชุมชนฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมเทศบาลบ้านค้อ ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ รองประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาคฯ กล่าวรายงาน ที่มา และความสําคัญของโครงการ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดศูนย์วิจัยชุมชนฯ มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ และมอบป้ายศูนย์วิจัยชุมชน พร้อมด้วย รศ.ดร.อัมพรพรรณ ธีรานุตร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ นายจักรพงศ์ เพ็ชรแสน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านค้อ  นายพิตรพิบูล ธนาพรกนกรัตน์ ปลัดเทศบาลตําบลบ้านค้อ คณะกรรมการศูนย์วิจัยชุมชนฯ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านค้อ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้เข้าอบรม และแขกผู้มีเกียรติ  เข้าร่วมกิจกรรม

ศ.ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ รองประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาคฯ หัวหน้าโครงการฯ (ที่ 2 จากขวามาซ้าย)
ศ.ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ รองประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาคฯ หัวหน้าโครงการฯ (ที่ 2 จากขวามาซ้าย)

ศ.ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ รองประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาคฯ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวรายงานว่า จากการที่สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดําเนินการจัดกิจกรรมขับเคลื่อนให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ เพื่อรองรับปัญหาของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง รวมถึงดําเนินการจัดกิจกรรมจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน 1 ศูนย์ คือ“ศูนย์วิจัยชุมชนการบริบาลและดูแลผู้สูงอายุ ต.บ้านค้อ” ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เทศบาลตำบลบ้านค้อ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านค้อและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านซำจาน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและผู้นำชุมชน ในการพัฒนาศูนย์วิจัยชุมชนตำบลบ้านค้อ  กลยุทธ์ที่สำคัญคือการพัฒนาความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทางสังคมในการทำงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดำรงชีวิตอยู่กับลูกหลานได้อย่างมีความสุข

ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ยกมือไหว้)
ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ยกมือไหว้)

ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมยินดีในการเปิด “ศูนย์วิจัยชุมชนการบริบาลและดูแลผู้สูงอายุ ตำบลบ้านค้อ” และผู้ที่ผ่านการอบรม ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) ในครั้งนี้ ซึ่งปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องหาวิธีการทำงานแบบใหม่ รวมถึงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน ให้ได้ผลที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์วิจัยชุมชนตำบลบ้านค้อ ครั้งนี้ นับเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่สำคัญยิ่ง ที่จะเป็นกลไกนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุ และการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนอย่างยั่งยืน ที่สำคัญ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม โครงการอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver CG) หลักสูตร 70 ชั่วโมง ประจำปี 2566 นั้น ได้รับความรู้และการปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ถูกต้องตามมาตรฐานของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ที่มีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุ ส่งผลให้ผู้สูงอายุในชุมชน สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ในอนาคต


ศ.ดร.ไชยณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 28 ในปี 2574 ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” และจะเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ในปี 2574 ส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้สูงอายุ ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ เครือข่ายวิจัยภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ร่วมกับสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชนการบริบาลและดูแลผู้สูงอายุ ต.บ้านค้อ” ขึ้น เพื่อดําเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ ในการขับเคลื่อนให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ มีการรองรับปัญหาของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญคือการพัฒนาความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทางสังคมในการทำงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน อย่างมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจะขยายไปสู่กลุ่มอื่นๆ อีกต่อไปในอนาคต เพื่อนำไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)

ข่าว : เบญจมาภรณ์  มามุข

ภาพ  :  เครือข่ายวิจัยภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มข.

KKU opens “Ban Kho Sub-district Elderly Care and Community Research Center” to serve dependent elderly for better quality of life

https://www.kku.ac.th/17277

เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง!! บทบาทของนักวิชาการและนักวิจัย COLA ชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานสร้างสรรค์ ท่ามกลางกระแสซอฟพาวเวอร์ของประเทศ ผ่านรายการ “คุณเล่า เราขยาย” ที่ Thai PBS

Scroll to Top