วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 20 (The 20th National Horticultural Congress) หัวข้อ ‘ศาสตร์พืชสวน: นวัตกรรมแห่งอนาคต’ ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทลแอนด์คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ในการนี้ รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน โดยระบุว่า ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่จัดการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 20 และเนื่องในวาระการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่น สาขาวิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเกียรติจากสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยที่ร่วมเป็นสมาชิกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการพืชสวนครั้งนี้
“การจัดงานประชุมวิชาการในครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการผลิตพืชสวนภายใต้หัวข้อ ศาสตร์พืชสวน: นวัตกรรมแห่งอนาคต เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่เกษตรกรและสาธารณชน ทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานวิจัยร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อพัฒนาผลผลิตพืชสวนของไทยให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น”
ด้าน รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานว่า การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2544 โดยในปีนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพหลักในการจัด ประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2566 โดยในงานมีการบรรยายพิเศษจาก วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ การแสดงผลงานการวิจัยของนักศึกษา นักวิชาการสาขาพืชสวน และสาขาที่เกี่ยวข้อง ร่วมถึงการแสดงนิทรรศการของภาคเอกชน ท่ามกลางผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน ในจำนวนนี้มีผลงานที่นำเสนอจำนวน 131 เรื่อง แบ่งเป็นการนำเสนอภาคบรรยาย (oral) 43 เรื่อง และภาคโปสเตอร์ (poster) 88 เรื่อง
“ผลงานทั้งหมดทุกเรื่องจะได้รับการตีพิมพ์ในรวมเล่มบทคัดย่อ (Abstract Book) และถูกคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในวารสารแก่นเกษตร ฉบับพิเศษ (Proceeding book) จำนวน 68 เรื่อง และผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจอ่านโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ตามมาตรฐานของวารสารแก่นเกษตร ฉบับปกติ (TCI 1) จำนวน 20 เรื่อง”
ขณะที่ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานในพิธีกล่าวว่า กระผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ‘ศาสตร์พืชสวน : นวัตกรรมแห่งอนาคต’ ซึ่งเป็นงานสำคัญของคนในแวดวงพืชสวนและผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ
การจัดการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 20 ถือเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการผลิตสินค้าเกษตร ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาภาคเกษตรของไทย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้เข้าร่วมชมงานทุกสาขาอาชีพไม่เฉพาะภาคการเกษตรเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ภายในงานยังมีพิธีมอบรางวัลนักวิจัยเยาวชนพืชสวนดีเด่น (กองทุนวิจัยพืชสวน ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์) โดยผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ คือ น.ส.แคทรียา สนธิยา วท.ม.(เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงานด้านการวิจัยพืชสวนตีพิมพ์วารสารวิชาการระดับชาติ 1 เรื่อง
ก่อนที่จะเข้าสู่การบรรยายพิเศษเรื่อง ‘Gold in the Orchard – a kiwifruit breeding success story’ โดย Emeritus Prof. Dr. Ian Warrington, Massey University, New Zealand ต่อด้วยการบรรยายพิเศษเรื่อง : ‘การส่งออกสินค้าพืชสวนไปตลาดอเมริกาและจีน’ โดย ดร. พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และการบรรยายพิเศษเรื่อง สานคุณค่า..ผัก (ไม่สวย) ดี..มีประโยขน์ กับ ‘Ugly Veggies’ Thailand…Plate form คืนชีวิต ‘ผักถูกทิ้ง’ โดย ผศ.ดร. ชวิศ เกตุแก้ว รองคณบดีฝ่ายกลยุทธ์ฯ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผศ.ดร.นครินทร์ จี้อาทิตย์ สาขาพืชสวน ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้นำ น.ส.ณัฐริกา บดีรัฐ นักศึกษาปริญญาโท มาเข้าร่วมบรรยายงานวิจัยเสริมสร้างความมั่นใจในการนำเสนอผลงาน และเป็นพื้นที่ให้เรียนรู้งานวิจัยอื่น ๆ จากทั้งนักศึกษาและคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสบการณ์นอกห้องเรียนให้นักศึกษา ทั้งยังได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการอีกด้วย “งานนี้ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลย คุ้มมาก ๆ ”
“งานที่นักศึกษามานำเสนอเป็นงานวิจัยเรื่อง “ปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศให้ต้านทานโรคเหี่ยวเขียว” ซึ่งร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยโรคนี้เป็นภัยคุกคามมะเขือเทศที่จัดการสิ่งแวดล้อมภายนอกยาก ส่งผลต่อผลผลิตของเกษตรกรที่เมื่อเป็นแล้วต้นจะตายทันที จึงจำเป็นต้องพัฒนาพันธุ์ใหม่ต้านทานขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในต้น”
น.ส.ยลลัดดา ลือคำภา นักศึกษาปริญญาโท สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า รู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ และพิเศษมาก ๆ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเองเป็นเจ้าภาพ เป็นโอกาสดีที่จะได้เผยแพร่ผลงาน “การศึกษาคุณสมบัติบางประการของต้นแบบฟิล์มพลาสติกแบบคัดเลือกช่วงแสงเพื่อการผลิตเบญจมาศระยะต้นกล้า” ทั้งยังได้พบผู้เชี่ยวชาญด้านพืชสวนมากมาย ซึ่งจะทำให้ได้ไอเดียจากผู้เชี่ยวชาญ และงานวิจัยของผู้เข้าร่วมงานคนอื่น ๆ ไปพัฒนาการวางแผนการทดลองต่อไปได้
ทั้งนี้ ตลอดช่วงเวลาระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2566 ของการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 20 (The 20th National Horticultural Congress) อัดแน่นไปด้วยสาระและองค์ความรู้ด้านศาสตร์พืชสวนผ่านการแสดงผลงานการวิจัยของนักศึกษา นักวิชาการสาขาพืชสวน และสาขาที่เกี่ยวข้อง การแสดงนิทรรศการของภาคเอกชน ร่วมถึงกิจกรรมเสวนาเรื่อง ‘แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืช สวน: ประเด็นปัญหา โจทย์ และเสนอแนะ’ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และการบรรยายย่อยตามแต่ละหัวข้อที่สนใจแบบเจาะลึก ปิดท้ายด้วยการศึกษาดูงานพืชที่พืชสวนพร้อมเรียนรู้จากเกษตรชาวขอนแก่นต่อไป