คณะสหวิทยาการ คิดค้นและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับ “กรรมวิธีผลิตปลาส้มเสริมสารกาบา”ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

 

ในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ณ ห้อง NK2415 และ ห้อง NK2511 อาคารเรียนรวมและปฏิบัติการ 1 คณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับ “กรรมวิธีผลิตปลาส้มเสริมสารกาบา”ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุนทรี บูชิตชน รองคณบดีคณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดงานในครั้งนี้

การถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับ “กรรมวิธีผลิตปลาส้มเสริมสารกาบา”ได้มี คุณสุภาพร วีระพันธ์ ผู้ประกอบการ ได้ทําสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่อง “กรรมวิธีผลิตปลาส้มเสริมสารกาบา” เพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยีไปผลิตและจําหน่ายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนา โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิโยรส หงษาชาติ และคณะ และให้เป็นตัวแทนผู้อนุญาตดําเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ คุณสุภาพร วีระพันธ์ ผู้รับอนุญาตให้นําทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยการนําเนินการตามสัญญาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

ปลาส้มเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักด้วยวัตถุดิบหลัก คือ เกลือ ข้าวสุก หรือข้าวเหนียว และกระเทียมจนมีรสเปรี้ยว อันเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียกรดแลคติกที่ติดมากับวัตถุดิบในการหมักตามธรรมชาติ แต่ด้วยกระบวนการหมักธรรมชาติทำให้ควบคุมคุณภาพของปลาส้มในแต่ละรอบการหมักได้ยาก เนื่องจากอาจมีเชื้อปนเปื้อนทำให้มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นอับ กลิ่นหืน กลิ่นรสเปรี้ยวบูด เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ก่อโรคทางเดินอาหารได้

แบคทีเรียกรดแลคติกมีบทบาทสำคัญในกระบวนการหมักปลาส้ม โดยเฉพาะแบคทีเรียแลคโตบาซิลัส เป็นสายพันธุ์หนึ่งที่พบในปลาส้ม มีความสามารถในการสร้างกาบา หรือ กรดแกมม่า-อะมิโนบิวทิริก ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน เช่น เป็นสารสื่อประสาทช่วยรักษาสมดุลในสมอง ทำให้เกิดการผ่อนคลาย

ผู้ประดิษฐ์จึงได้พัฒนาสูตรปลาส้ม โดยใช้เชื้อแบคทีเรียที่มีความสามารถในการสร้างกาบาในกระบวนการหมักปลาส้มเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เป็นอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคต่อไป

Scroll to Top