นานาชาติเยือน มข.ร่วม “Health AI Datathon 2023” แลกเปลี่ยนไอเดียพัฒนาวงการแพทย์ด้วย AI

วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์  สำนักหอสมุด สำนักนวัตกรรม อุทยานวิทยาศาสตร์ และ KKU Academy จัดงาน Thailand Health AI Symposium โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี

 

 

รศ.พญ.วิมลรัตน์ ศรีราช ประธานจัดงาน กล่าวรายงานว่า งาน Thailand Health AI Symposium เป็นส่วนหนึ่งของงาน Thaiand Health AI Conference and Datathon 2023 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 50 ของการจัด Health AI Datathon ทั่วโลก เพื่อเฉลิมฉลองการสถาปนาครบ 60 ปีมหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเครือข่ายวิจัยโรงเรียนแพทย์ Clinixir โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวมถึงสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ Microsoft Thailand

“การจัดงาน Datathon ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการนำ AI มาขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านสุขภาพของประชากรที่มีความหลากหลายด้วย

 

ขณะที่ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานในพิธี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน “Thailand Health AI Symposium” ในวันนี้ พร้อมระบุว่า โลกกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์ในหลายวงการ ด้วยการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ อุตสาหกรรม การศึกษา และ healthcare

ผมมีความยินดีที่งาน Thailand Health AI Conference & Datathon 2023 ได้เกิดขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งใน mile stone สำคัญของการเฉลิมฉลองการสถาปนาครบ 60 ปีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นโอกาสดีที่ Prof.Leo Anthony Celi รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้าน Health AI ในระดับนานาชาติและในไทยได้รวมตัวกัน ณ ที่แห่งนี้ เพื่อแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์อันมีคุณค่า ให้เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานด้าน Health AI และส่งเสริมให้เกิดชุมชนการเรียนรู้ในด้านนี้ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นพันธกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

สำหรับกิจกรรม Thailand Health AI Symposium ในวันนี้ บรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น จากการบรรยาย และอภิปรายโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการพัฒนางานด้าน Health AI ต่อด้วยการ Workshop พัฒนาทักษะด้าน AI และ Data Science ที่จะใช้ประโยชน์ในงานด้านสุขภาพ

ปิดท้ายงานด้วยการนำเสนอผลงานของผู้เข้ารอบสุดท้ายจากการแข่งขัน Datathon ซึ่งเป็นการตีโจทย์จาก Data Set 3 ชุด ประกอบด้วย โรคหนังแข็ง (Scleroderma), ข้อมูล ICU และโรคความดันสูง (Hypertension) โดยผลการแข่งขันปรากฏว่าทีม Hypertension-2 คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ไปครอง พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท ขณะที่รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีม Scleroderma-3 และรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทีมHypertension-4 ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 3 เป็นของทีม ICU-1

ทีม “Hypertension 2” คว้ารางวัลชนะเลิศ Health AI Datathon 2023

ทีม “Hypertension 2” ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้ ระบุว่า ผลงานในวันนี้มีชื่อว่า “ผลกระทบของความผันผวนของความดันโลหิตต่อการเสื่อมของไตและการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทย (The Impact of blood pressure variation on renal and cardiovascular outcomes in the Thai population)” โดยโจทย์เป็นฐานข้อมูลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงกว่าแสนราย ทีมได้ทำการวิเคราะห์ความผันผวนของระดับความดันโลหิตออกมาเป็นส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation, SD)

ทั้งนี้ ผลพบว่าผู้ที่มีค่า SD ของความดันโลหิตที่สูงกว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคและอัตราตายมากกว่ากลุ่มที่มี SD ต่ำกว่า ดังนั้นการรักษาโรคความดันโลหิตสูงนอกจากการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับดีแล้วควรควบคุมให้ความผันผวนของความดันโลหิตให้น้อยด้วยจึงจะนำไปสู่การป้องกันภาวะแทรกซ้อนและลดอัตราตาย ซึ่งในทางคลินิกทำได้โดยการรักษาด้วยยาที่ควบคุมความดันโลหิตได้ยาวนานอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

“ปัจจุบันมีคนไข้มาโรงพยาบาลด้วยโรคความดันโลหิตสูงเป็นจำนวนมาก หากสามารถใช้ฐานข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวิเคราะห์เช่นนี้ได้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้มาก และหวังว่าผลงานในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต”

สำหรับทีม Hypertension 2 ประกอบด้วยสมาชิกในทีม ได้แก่ พญ.มธุรส บูรณศักดา สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, พญ.แพรว โคตรุฉิน สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, บุรินทร์ บุญวัชราภัย (นักวิชาการสารสนเทศ) ศูนย์นวัตกรรมข้อมูลศิริราช (SiData+) คณะแพทยศาสตร์ศิริราช, วิชชากร บุญประคม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นวมินทร์ อ่อนขวัญ, ณัฐกิตติ์ จิรเศรษฐานนท์ และ อภิวัฒน์ จ่ากุญชร นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี อ.ดร.ไพรสันต์ ผดุงเวียง สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ อ.ดร.อนุตเชษฐ์ พัฒนธีร์ปพน คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ปรึกษา

ข่าว : ผานิต ฆาตนาค ภาพ : บริพัตร ทาสี

International countries visit KKU to join the “Health AI Datathon 2023” and exchange ideas for AI medical circle development

https://www.kku.ac.th/16999

Scroll to Top