ภาวะ Dead Inside อาการใจพังที่ตายจากข้างในที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้จักแต่เป็นอยู่ ไม่นับเป็นโรคร้ายแรงทางกาย แต่เป็นสภาวะทางใจที่ต้องการเยียวยา อาจจะเป็นเพราะโลกที่เปลี่ยนไป ปัญหาที่เข้ามารุมเร้า หรือได้รับการ Bully หรือการกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูด หรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อกันในด้านต่างๆ มีผลกระทบต่อจิตใจแต่ก็จำใจใช้ชีวิตเอาตัวรอดไปวันๆ บางครั้งรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ชอบสิ่งที่ทำอยู่ ไม่ได้มีแพชชั่น (Passion) หรือความกระตือรืร้น และไร้ความรู้สึกยินดีกับใครหรืออะไรทั้งนั้น แต่ก็ทำ ๆ ไปเพื่อให้เสร็จสิ้น และคิดว่าชีวิตเราก็เลือกไม่ได้แต่แตกต่างกันที่การปลงคือความสุขไม่ยึดติดปล่อยไปตามธรรมชาติ เกิด แก่ เจ็บ และตาย แต่ภาวะ Dead Inside คือ การปล่อยวางที่ยังเจ็บปวดอยู่ในใจและอาจพัฒนากลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้
สัญญาณเตือน Dead Inside ได้แก่ ความรู้สึกไร้จุดมุ่งหมาย เกิดคำถามเกี่ยวกับการมีชีวิต รู้สึกเฉื่อยชาและด้านชา รู้สึกอ้างว้างทางร่างกาย ซึ่งสิ่งที่ทำให้รู้สึก Dead Inside เป็นอาการทางจิตเวช อาทิ ภาวะซึมเศร้า , PTSD หรือ โรคเครียดหลังเจอเหตุการณ์สะเทือนใจ ความเครียดและเหนื่อยมากเกินไป พร้อมกันนี้ การใช้ยารักษาภาระซึมเศร้า ก็ส่งผลต่อวิธีที่สมองประมวลผลต่ออารมณ์ ส่วนการระงับอารมณ์นั้น บางทีความเข้มแข็งและอดทนกับทุกเรื่องไม่ยอมอ่อนแอหรือมีน้ำตาบ้างอาจนำไปสู่ Dead Inside ได้ ‘รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าตัวเองล้มเหลว กลัวทำให้ทุกคนผิดหวัง จนไม่อยากเจอใคร กังวล ระวังตัว และกลัวทุกอย่าง’ หลายคนเลือกอดทนกับความรู้สึกเหล่านั้นต่อไปเรื่อย ๆ เพราะคิดว่าจะจัดการกับมันได้
หน่วยปฐมภูมิ 123 โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้นักศึกษาได้มีความรู้ความเข้าใจระหว่างอารมณ์เศร้าภาวะซึมเศร้า โรคซึมเศร้า ให้รู้จักเทคนิคการวิเคราะห์ตนเอง รับมือกับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น โดยมีวิทยากรจากภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ ประกอบด้วย รศ.พญ.วริสรา ลุวีระ อาจารย์ พญ.พรปวีณ์ พฤกษ์ปิติกุล อาจารย์ นพ.ธนกิจ รุ่งเรืองรัตนกุล อาจารย์ นพ.นนท์ปวิธ โชติชัย นพ.ณัฐภพ ปินะกาตาโพธิ์ นพ.ทัตพงศ์ วิไธสง นพ.ปพนธีร์ ศรีบุญ พญ.จันทรธีรา ผลวิวัฒน์ และ Dr. Vimala Bouphavanh มีนักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม กว่า 50 คน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน 2566 ระหว่างเวลา8.00-16.30 น. ณ ห้องสิริคุณากร 3 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาซึ่งเป็นวัยรุ่น ต้องปรับตัวในด้านต่าง ๆ ในสังคม และการแสดงออกทั้งวาจา ทั้งสื่อออนไลน์ ให้นักศึกษาได้เข้าใจ รู้ทัน อารมณ์ ความคิดเข้าใจอารมณ์เศร้าภาวะซึมเศร้า โรคซึมเศร้า และดูแลตนเองได้ สร้างความตระหนักถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขซึ่งนักศึกษาสามารถนาความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ได้ ให้ลดปัญหาการเกิดอารมณ์เศร้าและจัดการปัญหาได้ พร้อมๆกับการส่งเสริมให้นักศึกษามีความกล้าแสดงออก และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างเกิดความเชื่อใจ พร้อมที่จะเล่าปัญหาให้ฟัง
พว.วิลาวัณย์ อุ่นเรือน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ เจ้าของโครงการร่วมกับ พว.นวพร บุดดาน้อย กล่าวว่า “โรคนี้อาจเกิดขึ้นได้จากอารมณ์เศร้าหมองและความตึงเครียดสะสม หรือเกิดได้จากสารเคมีในสมอง สารสื่อประสาทที่ทำงานบกพร่อง เป็นโรคทางจิตใจที่จับต้องได้ยาความเจ็บปวด ความเศร้า เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน อารมณ์เศร้า (Depressive Mood) จึงถือเป็นความเศร้าที่ปกติ เป็นอารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นมาแล้วหายไป มีสาเหตุจากการสูญเสีย ความผิดหวัง อึดอัดตึงเครียด ในขณะที่ ภาวะซึมเศร้า (Depression) เป็นอารมณ์เศร้าที่เกิดจากการสูญเสียต่อเนื่อง ผิดหวังในเรื่องที่คาดหวังไว้สูง ความวิตกกังวลในเรื่องอนาคต และอาจพัฒนามาเป็น โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตเป็นเวลานาน กระทบต่อการทางาน ความคิด ขาดความเชื่อมั่น จนสูญเสียความเป็นตัวเอง”
พว.วิลาวัณย์ อุ่นเรือน กล่าวต่อไปว่า “กิจกรรมในช่วงเช้าประกอบด้วยการบรรยายถึงปัญหาทางใจที่เกิดขึ้นในนักศึกษา รวมถึงสาเหตุุและแนวทางดูแลจิตใจ ซึ่งรวบรวมจากประสบการณ์การดูแลคลินิกให้คำปรึกษา ต่อด้วยการเสวนาเพื่อตอบข้อซักถามของนักศึกษาในประเด็นต่างๆโดยทีมแพทย์จากคลินิกให้คำปรึกษาของหน่วยบริการปฐมภูมิ 123 และปิดท้ายด้วยการแแชร์ประสบการณ์ของคุณหมอที่กว่าจะปังก็เคยพังมาก่อน ในช่วงบ่าย เป็นการจัดกิจกรรม 6 ฐาน ที่จะช่วยให้นักศึกษาได้เข้าใจตัวเองและฝึกทักษะต่าง ๆ ที่จะช่วยเยียวยาตัวเองได้เมื่อเกิดปัญหาทางใจ มีความรู้ความเข้าใจระหว่างอารมณ์เศร้าภาวะซึมเศร้า โรคซึมเศร้า ในการแก้ไขปัญหาในวันนี้ นำไปสู่การสร้างช่องทางการสื่อสารให้คำปรึกษาทางไลน์ Line OA เชื่อว่าหลังจากนี้ นักศึกษาที่เข้ารับการอบรมจะได้แนวทางการแก้ไขพฤติกรรม/รู้ทันอารมณ์ของตนเอง และสามารถจัดการกับปัญหาได้
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู
ภาพ : หน่วยปฐมภูมิ 123 โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.wongnai.com/articles/get-to-know-depression?ref=ct. และ
https://www.pptvhd36.com/health/how-to/2816