มข.จับมือ วุฒิสภา แก้ปัญหาความยากจน จัดเสวนา “แก้ยากจน ลดเหลื่อมล้ำ ด้วยนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์”

มข.จับมือ วุฒิสภา แก้ปัญหาความยากจน จัดเสวนา “แก้ยากจน ลดเหลื่อมล้ำ ด้วยนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์”

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา จัดสัมมนา เรื่อง “แก้ยากจน ลดเหลื่อมล้ำ ด้วยนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์” พร้อมร่วมนำเสนอผลงานวิจัยแก้จน ตอกย้ำการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์และพัฒนาเพื่อสังคม

รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ รองผู้อำนวยการฯ สำนักบริการวิชาการ มข.
รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ รองผู้อำนวยการฯ สำนักบริการวิชาการ มข.
     มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา จัดเสวนา เรื่อง “แก้ยากจน ลดเหลื่อมล้ำ ด้วยนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุม 402-403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดสัมมนา นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง กล่าววัตถุประสงค์ในการจัดงาน” ในการนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ สำนักบริการวิชาการ เข้าร่วมเสวนาในประเด็น การศึกษาคุณลักษณะฝายแกนดินซีเมนต์ ฯ มีคณะกรรมาธิการ สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนประชาชน เข้าร่วมรับฟังการสัมมนา พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดสดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภสิทธิ์  คนใหญ่ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภสิทธิ์  คนใหญ่ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
     รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ  สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการ “การวิจัยศึกษาคุณลักษณะฝายแกนดินซีเมนต์สำหรับการแก้ปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติประจำปี 2565 (วช.) มีนักวิจัยที่มาร่วมทำการศึกษา จากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานและมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ซึ่งวัตถุประสงค์ในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์นั้น เพื่อให้เกษตรกรนอกเขตชลประทานให้สามารถมีน้ำเพื่อการผลิต บริโภคและอุปโภคได้ตลอด 365 วัน หรือตลอดทั้งปี และเพื่อป้องกันปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม ลดความเหลื่อมล้ำสำหรับเกษตรกรเมื่อมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี เกษตรกรสามารถกำหนดแผนการผลิตและการตลาดได้ด้วยความมั่นใจ สามารถวางแผนปลูกพืชผักมูลค่าสูงได้ สามารถทำประมงและการทำปศุสัตว์โดยไม่มีความกังวลใจ
มข.จับมือ วุฒิสภา แก้ปัญหาความยากจน จัดเสวนา “แก้ยากจน ลดเหลื่อมล้ำ ด้วยนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์”
มข.จับมือ วุฒิสภา แก้ปัญหาความยากจน จัดเสวนา “แก้ยากจน ลดเหลื่อมล้ำ ด้วยนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์”
     รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานในครั้งนี้มีพื้นที่รับผิดชอบ 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคามและร้อยเอ็ด มีฝายที่เราได้คัดเลือกมาทั้งสิ้น 15 ฝายจากทั้งหมด 88 ฝาย ซึ่งนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์ มีจุดเด่นคือ จะมีแกนดินซีเมนต์ที่ลึกเป็น 2 เท่าของฝาย ทำให้สามารถชะลอน้ำและเก็บน้ำลงในดินได้เพิ่มขึ้น ทำให้บริเวนฝายมีความชุ่มชื่นเพิ่มขึ้น จาก 1 เดือน เป็น 3 – 4 เดือน ทำให้เกษตรกรทำการเกษตรได้นานขึ้น ที่สำคัญสามารถสร้างได้ในทุกสภาพพื้นที่ของทั่วทุกภาคในประเทศไทย ทั้งในพื้นที่สูงและพื้นที่ราบ สามารถกักเก็บน้ำให้เพียงพอสำหรับทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี และช่วยรักษาความชุ่มชื่นของป่าด้วยต้นทุนที่ประหยัดกว่าฝายทุกชนิด ผนวกกับองค์ความรู้ในด้านการจัดการน้ำ ที่นำมาสร้างโมเดลในการแก้ไขปัญหา โดยเรียงลำดับความสามารถในแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำของชุมชนในแต่ละพื้นที่ได้มากที่สุด ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้เราได้นำเอาไปรวมอยู่ในคู่มือเพื่อให้องค์กรหรือหน่วยงานในท้องถิ่นสามารถนำไปใช้ต่อยอดในพื้นที่ของตนเองได้ เมื่อคณะกรรมการวุฒิสภาฯ ได้มาเห็นนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์ จึงนำไปต่อยอดขยายผลในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ
     ที่สำคัญในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยตนซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการฯ พร้อมทีมนักวิจัยร่วม ได้มีการขยายผลการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคเหนือ ไม่น้อยกว่า 300 ตัว และทางจังหวัดขอนแก่นเอง ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ก็กำหนดให้การขยายการสร้างฝายเป็นนโยบาย เพื่อรองรับปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่จะเกินขึ้นที่รุนแรงและยาวนาน 3-5 ปีในข้างหน้า ซึ่งการนำองค์ความรู้ด้านการวิจัยไปปรับใช้ในการช่วยเหลือชุมชนและประชาชนในมิติต่างๆ โดยเฉพาะให้พ้นจากความยากจน มาเกือบ 60 ปี เป็นการตอกย้ำการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์และพัฒนาเพื่อสังคม …..รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ กล่าวในตอนท้าย
     
     ในช่วงท้ายของการเสวนา คณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรเมื่อเกษตรกรมีน้ำใช้ เพื่อการผลิตอย่างเพียงพอแล้ว ควรสนใจทำการเกษตรผสมผสานหรือการเกษตรที่มีมูลค่าสูง การเกษตรผสมผสานและไม่ใช้สารเคมีหรือเกษตรอินทรีย์ จะช่วยให้เกษตรกรพ้นจากความ และนี่คือการแก้จนด้วยการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ การขุดบ่อบาดาลน้ำตื้น และใช้โซล่าร์เซลล์และการใช้ระบบน้ำหยด เป็นตัวอย่างที่ดีของการแก้ความยากจนในระดับชุมชนหมู่บ้าน จากประสบการณ์ของเราพบว่า ตลอดสี่ปีที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน มีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์  นอกจากนั้นประธานวุฒิสภาและคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการแสดงขั้นตอนการการสร้างฝายตลอดจนความสำเร็จขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กด้วยนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์อีกด้วย
ข่าว : เบญจมาภรณ์  มามุข
ภาพ ข้อมูล : สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Scroll to Top