กระแสของเครื่องมือ Generative AI กลายเป็นสงครามดิจิทัลที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างเร่งพัฒนาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้คน ขณะเดียวกันตลาดแรงงานก็ต้องการผู้มีทักษะ หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้งานเครื่องมือใหม่เหล่านี้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ผลักดัน Digital Transformation เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเทคโนโลยี และผลิตบัณฑิตแห่งอนาคต
ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า นโยบายหลักของมหาวิทยาลัย คือ นักศึกษาทุกคนต้องได้สัมผัสกับระบบดิจิทัลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ระบบรับสมัครเข้าเรียนที่เป็นออนไลน์ 100% กระทั่งเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้วนักศึกษาจะได้อยู่กับสภาพแวดล้อมแห่งอนาคตที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศหรือระดับโลก
ปัจจุบัน Generative AI เป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ ไม่เฉพาะ Chat GPT แอปพลิเคชันดังเท่านั้น แต่แอปพลิเคชัน หรือโปรแกรมอื่น ๆ ก็มี AI เป็นส่วนหนึ่งของฟังก์ชันที่ใช้กันทั่วโลก อย่างไรก็ตาม Generative AI นับเป็นเรื่องใหม่มาก ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะอาจจะยังไม่สามารถทำได้ ด้วยเนื้อหาที่ยังไม่เพียงพอสำหรับ 1 วิชา แต่เราใช้วิธีการปลูกพรม โดยการสนับสนุนเครื่องมือดิจิทัลแล็บ Windows ตัวที่ล่าสุดมี AI อยู่ในนั้น หรือ Adobe เพื่อผลิตสื่อการเรียนการสอน
ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังเดินหน้าฝึกอบรมให้นักศึกษาได้ใช้งานทั้ง Google Docs, Google sheet,Google slide และ Canva Pro ที่มี AI อยู่ในนั้น เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด ติดอาวุธสำหรับการทำงานในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีระบบ e-Learning และเครื่องมืออื่น ๆ รองรับการทำงานของนักศึกษา โดยเฉพาะอีเมลที่สามารถใช้ได้ตลอดชีวิต พร้อมพื้นที่จัดเก็ยข้อมูล Google Drive 40 GB และ One Drive 1 TB หรือ 1,000 GB
“สิ่งสำคัญกว่าการมีเครื่องมือ AI คือ รู้เท่าทันจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกในยุคของ generative AI มันมีทั้งบวกและลบ ดังนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงสอดแทรกกับวิชาที่สนับสนุนให้อาจารย์สามารถที่จะแนะนำนักศึกษาได้ ขณะเดียวกันหอสมุดก็เป็นพื้นที่ให้คำแนะนำการใช้ AI ด้วย”
ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวเสริมว่า บรรณารักษ์ หอสมุดมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีบทบาทเพิ่มเติมกับการเป็น Prompt Librarian ที่จะมาช่วยสนับสนุนนักศึกษาในการพูดคุยกับ AI ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้แก่นักศึกษา โดยมุ่งเน้นที่นักศึกษาปีสุดท้ายก่อน เพราะเป็นปีที่ใกล้จะสำเร็จการศึกษาจึงควรได้สัมผัสกับเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อก้าวสู่ทักษะอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการต่อไป
“AI ไม่ได้แทนคน แต่ AI มาแทนงานที่คนต้องทำ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงติดอาวุธให้นักศึกษา ไม่เพียงเป็นผู้ใช้เป็น แต่รู้เท่าทัน ตรวจสอบที่มาและความถูกต้องของข้อมูลจาก AI ได้ และต้องเข้าใจว่าข้อมูลที่ป้อนให้ AI มีโอกาสรั่วไหลเช่นกัน ดังนั้นนักศึกษาจึงต้องใช้งานอย่างถูกต้องและเท่าทัน”
ทั้งนี้ รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่นักศึกษาสามารถต่อยอดจาก AI ได้ คือ การเพิ่มเติมความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาเดิม หรือเพิ่มเติมสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์และพัฒนาเพื่อสังคม เพราะฉะนั้นบัณฑิตของเราก็ต้องเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอไม่ใช่เฉพาะสร้างสรรค์เรื่องงานศิลปะแต่เป็นสร้างสรรค์ในวิชาชีพตัวเองได้
KKU Transformation: Arming students with digital skill and professional AI usage