สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ กลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย และโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี จังหวัดสกลนคร ในวันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุม 2301 สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน อาคาร 2
โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวต้อนรับผู้ลงนามจากกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกฯ รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวรายงานถึงการลงนามความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้
ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ มีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ทั้งในด้านหลักสูตร กระบวนการการวัดและประเมินผล ส่งเสริมการจัดการชั้นเรียนให้มีคุณภาพ เปลี่ยนผู้เรียนให้เป็น “นวัตกร” และพัฒนานักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาให้ได้รับการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (Thailand Lesson Study incorporated with Open Approach: TLSOA) ให้โรงเรียนมีการพัฒนาตนเองทั้งระบบ (Whole School Approach) โดยใช้นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้นักเรียนเกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 อาทิ การพัฒนานักเรียนในโรงเรียนให้เกิดการเรียนรู้ และทักษะการคิดที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียน โดยใช้โมเดลการจัดการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (TLSOA) การพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องให้สามารถใช้โมเดล TLSOA ได้ และสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้โมเดล TLSOA รวมถึงการประเมินความรู้ทางคณิตศาสตร์ของผู้เรียน
โดยผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการจากหน่วยงานทั้ง 2 ฝ่าย ประกอบด้วย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ผู้ลงนามฝ่ายสถาบันฯ กับ กลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย และโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดสกลนคร จำนวน 10 โรงเรียน โดยมี นายกิติศักดิ์ นิโรจน์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นผู้ลงนามฝ่ายโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย อุทัยธานี
ดร.วิโรจน์ ไชยภักดี ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นผู้ลงนามฝ่ายโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุพรรณบุรี
นายเกียรติมงคล พูดเพราะ ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นผู้ลงนามฝ่ายโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่
ดร.ทวีภรณ์ วรชิน ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นผู้ลงนามฝ่ายโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กาฬสินธุ์
นายกัณฑพัฒน์ ทองเพชร เป็นผู้ลงนามฝ่ายโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา
ว่าที่ร้อยตรีพิษณุพล แตงอ่อน ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นผู้ลงนามฝ่ายโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม)
ดร.ธวัชชัย เกิ้นโนนกอก ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นผู้ลงนามฝ่ายโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ชัยภูมิ
ว่าที่ร้อยเอกยุทธศาสตร์ ถนัดพงษ์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นผู้ลงนามฝ่ายโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย เพชรบูรณ์
นายบรรชา ช่อสุวรรณ ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้ลงนามฝ่ายโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุราษฎร์ธานี
ดร.ศรีทัศน์ วิรัสวา ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นผู้ลงนามฝ่ายโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี จังหวัดสกลนคร
และมีผู้ลงนามพยานของทั้งสองฝ่าย พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากรจากกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกฯ และผู้บริหาร บุคลากรสถาบันฯ รวมกว่า 50 คน ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ โดยผู้แทนจากทั้ง 2 ฝ่ายได้กล่าวแสดงความยินดีถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และการร่วมดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติร่วมกันต่อไป
ซึ่งการทำข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา การจัดการเรียนรู้ ทั้งในด้านหลักสูตร กระบวนการการวัดและประเมินผล ส่งเสริมการจัดการชั้นเรียนให้มีคุณภาพ และพัฒนานักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาให้ได้รับการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และโรงเรียนได้มีการพัฒนาตนเองทั้งระบบ (Whole School Approach) โดยใช้นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนักเรียนยังเกิดการเรียนรู้และทักษะการคิดที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 เพื่อให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ของสถาบันฯ ในการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา และสนับสนุนเรื่องการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDG4)