มข. จับมือ สมาคมร้านค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล ผุดหลักสูตร หนุนตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ

 

วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2566  เวลา 10.00 น. คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น  จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ สมาคมร้านค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล  ณ ห้องวังเลิศ ขั้น 1 อาคาร BS.01 คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี

 

การนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานว่า พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ สมาคมร้านค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล   มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตร ตามกระบวนทัศน์ใหม่ พัฒนาการเรียนการสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต้านการเรียนการสอนและการวิจัยร่วมกัน  ตลอดจนเพิ่มช่องทางการเรียนรู้หรือเปิดโอกาสให้แก่บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจได้ศึกษา  เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ค้าปลีกในไทยให้อยู่รอดได้อย่างมีคุณภาพในยุคดิจิทัล

     “คณะวิทยาการฯ จับมือกับสมาคมตั้งเป้าหมายนำร่องพัฒนาร้านค้าปลีกในจังหวัดขอนแก่น 200 ร้านค้า เพื่อยกระดับเรื่องดิจิทัล ทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายและภาษีอากร  โดยใช้ชื่อว่า โครงการยกระดับร้านค้าปลีกชุมชนด้วยระบบดิจิทัลอย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรการอบรมนักศึกษาของคณะบริหารธุรและการบัญชี ประมาณ 200 คน ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อให้ความรู้ด้านการพัฒนาร้านค้า และหลักสูตรอบรมร้านค้าปลีกชุมชนในจังหวัดขอนแก่น ไม่น้อยกว่า 200 ร้าน เพื่อให้เข้าใจเทคโนโลยีในการบริหารร้านค้าปลีก ซึ่งทั้งนักศึกษาและร้านค้าปลีกที่อบรมครบหลักสูตรจะทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาร้านค้าปลีกชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน

 

ค้าปลีกไทย อยู่อย่างไรในยุคดิจิทัล

ขณะที่ คุณสุเทพ พลพฤภษณ ตำแหน่ง นายกสมาคมร้านค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า ขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบดิจิทัลให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับที่สมาคมฯ ได้ผลักดันระบบดิจิทัลเพื่อยกระดับการค้าให้ชุมชนมาโดยตลอด คือ แอปพลิเคชันจัดการร้านค้า ทั้งการสต็อกสินค้า และการขนส่ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้สินค้าจากแต่ละภูมิภาคสามารถแลกเปลี่ยน ส่งขายกันได้ในร้านค้าปลีกชุมชนทั่วประเทศไทย

การนำระบบดิจิทัลอย่างแอปพลิเคชันดังกล่าวจะเข้ามาแก้ปัญหาการขายตัดราคาในตลาดค้าปลีก ขณะเดียวกันระบบ POS เข้ามาพัฒนาร้านค้า และออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ร้านค้าปลีกชุมชนหมดปัญหาการนำส่งภาษีอากรด้วย

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญสำหรับร้านค้าปลีกชุมชน คือ แหล่งเงินทุน ล่าสุด ธนาคารออมสิน และ ธกส. รวมถึง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ต่างยินดีที่จะสนับสนุนโครงการนี้เพื่อให้การพัฒนาร้านค้าปลีกบรรลุตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ นางสาวธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในนามของจังหวัดขอนแก่นรู้สึกยินดีที่ได้มาเป็นสักขีพยานในความร่วมมือของทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยคณะบริหารธุรกิจและการบัญชีร่วมกับสมาคมค้าปลีกไทยยุคดิจิทัลที่จะเข้ามาสนับสนุนร้านค้าปลีกด้วยองค์ความรู้ทางวิชาการที่ทางคณะฯ มี รวมทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทางสมาคมค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล

แม้จะเป็นการนำร่อง 200 ร้านค้าปลีก แต่นับเป็นก้าวสำคัญในอนาคต หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จจะกลายเป็นต้นแบบให้ร้านค้าปลีกชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ SMEs ตัวเล็ก ๆ มีโอกาสได้พัฒนากิจการและดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

ข่าว  :  จิราพร  ประทุมชัย

KKU joins Thai Retailers Association under the digital age to offer programs that promote national and international markets

https://www.kku.ac.th/16394

Scroll to Top