สำนักบริการวิชาการ Upskill ช่างตัดเย็บชุมชนในแบบ “Minimal Style” เพิ่มมูลค่าผ้าฝ้ายพื้นเมืองตำบลยางคำ

                                 
         วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2566 – สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และการส่งเสริมการขาย (กลุ่มทอผ้า) ภายใต้โครงการ “การพัฒนาและยกระดับสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น” ณ สำนักงานเทศบาลตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น
                    รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย นางเอื้องฟ้า วรรณสิทธิ์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ ผู้ประสานงานด้านบริการวิชาการสังคมในพื้นที่ นำทีมเจ้าหน้าที่จากสำนักบริการวิชาการ โดยร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลยางคำ นำโดย นายวรวุฒิ หล้าทุม นายกเทศมนตรีตำบลยางคำ (ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น รุ่นที่ 29) ดำเนินการจัดกิจกรรมการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และการส่งเสริมการขาย (กลุ่มทอผ้า) ภายใต้โครงการ “การพัฒนาและยกระดับสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น” ณ สำนักงานเทศบาลตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น วิทยากรโดย รศ.ดร.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ อาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในช่วงเปิดกิจกรรม ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงการสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการบริการวิชาการในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยทางสำนักบริการวิชาการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ให้มีโอกาสต่อยอดศักยภาพด้านการผลิต เพื่อเพิ่มรายได้และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวบ้านภายในชุมชน
                👉โดยกิจกรรมเป็นการนำเสนอผลงานต้นแบบด้วยวิธีการเดินแบบโชว์ผลงาน จำนวน 12 แบบเสื้อ ภายใต้หัวข้อ “แฟชั่นที่แมทช์กับเสื้อคลุม” โดยผลงานต้นแบบมีทั้งแบบยาวและแบบสั้น มีแขนและไม่มีแขน โดยปลุกกระแสแนวคิดการแต่งตัวด้วยเสื้อคลุมรูปแบบต่างๆ แต่งตัวด้วยผ้าไทยไปเที่ยวลุคน่ารัก มีสไตส์ มีการตัดเย็บรูปแบบเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน (มินิมอล) คำนึงถึงพื้นฐานจากทักษะงานฝีมือตัดเย็บที่มีอยู่เดิมของช่างชุมชน แปรรูปจากผ้าฝ้ายพื้นเมืองอีสาน ด้วยการออกแบบการทอลวดลายสีสันสวยงาม จับคู่สีในโทนร้อน และโทนเย็น เรียบหรู สวมใส่กับยีนส์ไม่ตกเทรน พร้อมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างช่างชุมชน และกลุ่มผู้ทอผ้า บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกเกิดการทำงานร่วมกันของคนในชุมชน และการสร้างประสบการณ์นำเสนอขายในรูปแบบใหม่ การสื่อสารให้ข้อมูลกับผู้ซื้อเกี่ยวกับผ้าและรูปแบบการตัดเย็บได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น
                👉โดยกิจกรรมในครั้งนี้เป็นหนึ่งในพันธกิจของสำนักบริการวิชาการ ด้านการประสานบริการวิชาการสู่สังคม (Community outreach) ในรูปแบบของการสร้างคุณค่าร่วมกัน (CSV) เพื่อการพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น 😘👌
ข่าว :เสาวลักษณ์ ราชำ, ฐกฤต อนุพล
ภาพ : ฐกฤต อนุพล
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Scroll to Top