เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักบริการวิชาการ ร่วมกับ โรงงานน้ำตาลมิตรผล อ.หนองเรือ จัดกิจกรรมการพัฒนาระบบการผลิตผัก ผลไม้และสารชีวภัณฑ์สู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพแบบบูรณาการ ลงพื้นที่พูดคุยร่วมกับผู้นำและเกษตรกรกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยผู้แทนจาก กลุ่มมิตรผล เพื่อหารือถึงแนวทางความต้องการในการยกระดับของกลุ่มปลูกผักอินทรีย์ ในการส่งผักเข้าสู่ห้างสรรพสินค้า
นายคมกริช นาคะลักษณ์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล
นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดสารบ้าน กม.52 ได้รับการสนับสนุนจากโรงงานน้ำตาลมิตรภูเวียง และหน่วยงานภาครัฐ ได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) เพื่อพัฒนาปรับปรุงโรงคัดแยกผักและผลไม้ ซึ่งปัจจุบันยังขาดระบบในการบริหารจัดการโรงคัดแยกฯ อย่างมีประสิทธิภาพ ในการผลิตสินค้าส่งคู่ค้า โดยกลุ่มมีเป้าหมายในอนาคตต้องการที่จะขยายผู้ผลิต เพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้มีคุณภาพ และการแปรรูปขั้นต้น เช่น การบรรจุผลผลิตแบบแพ็คใหญ่ และการแพ็คผลผลิตสำหรับขายปลีก เพื่อให้ตรงต่อความต้องการของผู้รับซื้อ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากเดิมขึ้นเป็น 2 เท่า และสามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่ม ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหน่วยงานที่องค์ความรู้ที่จะมาร่วมกันบูรณาการเพื่อส่งเสริมการทำงานของกลุ่มเกษตรกรให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
โดยการหารือในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายผู้ผลิตอาหารปลอดภัย อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น, กลุ่มโครงการครัวเรือนยกระดับ ตำบลกุดกว้าง และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ PGS ปลูกเพาะสุข ตำบลกุดกว้าง และเครือข่ายเกษตรกรของกลุ่มมิตรผล ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีจำนวน 45 คน โดยทางกลุ่มต้องการองค์ความรู้ในการวางระบบการผลิตพืชและออกแบบระบบการบริหารจัดการโรงคัดแยกผักและผลไม้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมอาชีพของเกษตรกรในการผลิตผักให้มีมาตรฐาน และส่งเสริมการต่อยอดธุรกิจชุมชนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างคุ้มค่า พัฒนาผลผลิตสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตสารชีวภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในครัวเรือนและเกิดผลิตภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่ายเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย
การดำเนินงานในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในภารกิจของสำนักบริการวิชาการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการประสานบริการวิชาการสู่สังคม (Community Outreach) ในรูปแบบของการสร้างคุณค่าร่วมกัน (CSV) เพื่อการพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ชุมชนผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถดึงเอาศักยภาพพื้นที่ออกมาได้อย่างเต็มที่
นางประคอง เชียงนางาม
ผู้รับผิดชอบโครงการ