มข. ตอกย้ำใช้ Digital Transcript หนึ่งในกุญแจไขสู่โอกาสในการประกอบอาชีพ

นิทรรศการตลาดนัดหลักสูตรอุดมศึกษา เป็นกิจกรรมที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมมือ กับ สถาบันการศึกษาทุกภูมิภาคจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ นำเสนอข้อมูลการจัดการศึกษาของแต่ละสถาบันไปเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา คุณครู และผู้ที่สนใจได้รับทราบ รวมถึงเปิดโอกาสในการเข้าถึงแต่ละสถาบันการศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนเพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา  ซึ่งเมื่อวันที่ 19 – 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดงานนิทรรศการตลาดนัดหลักสูตรอุดมศึกษา ครั้งที่ 25 และ KKU Open House 2023 ขึ้น ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในครั้งนั้น มีการบรรยายพิเศษที่ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานอย่างมาก คือ การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Digital Transcript กับโอกาสในการประกอบอาชีพ” โดย ผศ.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ที่ได้กล่าวถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะผู้นำในการพัฒนาเอกสารทางการศึกษาดิจิทัลเป็นกลุ่มแรก ๆ ของประเทศไทย ตามนโยบายมหาวิทยาลัยดิจิทัล(Digital University) ซึ่งการฉลิกโฉมจากทรานสคริปส์ในรูปแบบกระดาษ สู่ Digital Transcript นับเป็นการสร้างความสะดวกสบายสำหรับนิสิตนักศึกษาในการใช้งานเอกสารสำหรับเรียนต่อหรือสมัครงาน

ผศ.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“สิ่งสำคัญของ Digital Transcript คือ ข้อมูลที่อยู่ในทรานสคริป เมื่อแปลงมาเป็นดิจิทัล ข้อมูลที่เคยปรากฏอยู่บนกระดาษจะถูกแปลงเป็นข้อมูลที่เอาไปใช้งานต่อ ไปเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ง่าย ในอดีตเมื่อทรานสคริปเป็นกระดาษ  เกิดกรณีการปลอมวุฒิการศึกษา การซื้อปริญญา ซึ่งจะต้องส่งเอกสารมาที่มหาวิทยาลัยเพื่อตรวจสอบว่าเป็นของจริงหรือไม่ ทำให้เสียเวลา เสียกำลังพลโดยใช่เหตุ เพราะฉะนั้นเมื่อทำเป็น digital transcript หากต้องการพิสูจน์เชิงลึกก็สามารถทำออนไลน์ และ จะทราบผลทันที”

“นอกจากนี้ Digital Transcript ยังเป็นการเพิ่มโอกาสของการเจอกันระหว่าง ผู้หางาน และนายจ้าง เราเรียกการบริหารจัดการข้อมูลที่อยู่ใน Transcript ว่า ข้อมูลอุดมศึกษา โดยข้อมูลดังกล่าวจะไปสะท้อนที่ตัวตลาดงาน โดยมีต้นน้ำ คือ มหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิต กลางน้ำ คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ระดับการบริหารจัดการของประเทศ ปลายน้ำ คือ ผู้ที่จะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ หรือ ผู้จ้างงาน ซึ่งพวกเขาจะมีโอกาสที่จะทราบข้อมูลต่างๆ เช่น คนอยู่ในสาขานี้เท่าไหร่ มีศักยภาพอย่างไรในหลักสูตรใด ซึ่งจะสามารถจับคู่ซึ่งกันและกัน เมื่อ demand-side กับ supply-side อุปสงค์ อุปทาน ของการผลิตเข้าถึงกัน จะสามารถทำให้โอกาสในการได้งานของคนที่จบมีสูงขึ้น ตรงกับที่ตัวเองต้องการมากขึ้น ในขณะเดียวกัน คนที่จ้างงานก็จะได้คนที่จบมาตรงกับที่ตัวเองต้องการมากขึ้น เป็นสถานการณ์ที่ทุกคนได้ประโยชน์”

ผศ.เด่นพงษ์ มองว่า การทำdigital transcript สามารถทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ด้วยการมีข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษามีข้อมูลของผู้ที่จะจ้างตนเอง ขณะเดียวกันผู้ว่าจ้างก็จะมีข้อมูลว่าใครสำเร็จการศึกษามาจากที่ไหน อย่างไร นำมาสู่กลไกตลาดที่การแข่งขันสูงขึ้น ศักยภาพของประเทศย่อมก้าวกระโดดตามไปด้วย นอกจากนี้ข้อมูลดังกล่าวยังเป็นโอกาสที่ขยายไปสู่การวางแผนเชิงนโยบายระดับประเทศ

digital transcript  นั้นก็จะถูกเก็บข้อมูลไว้อีกที่หนึ่ง อย่างเช่นเก็บข้อมูลไว้ที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา โดยที่เจ้าตัวผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะเป็นคนนำข้อมูลไปใส่เอง แล้วข้อมูลชุดนี้ก็จะใช้ในการวิเคราะห์ว่าคนเหล่านี้จบสาขาไหน เกรดเป็นอย่างไร เรียนด้านไหน เนื่องจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา จะมีข้อมูลหลักสูตรว่าแต่ละหลักสูตรจัดการเรียนการสอนอย่างไร  ได้สมรรถนะของคนประเภทไหน ซึ่งจะเห็นว่าประเทศเรา คนที่สำเร็จการศึกษาที่เชื่อมกับหลักสูตรมีสมรรถนะระดับไหน ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้ ก็จะเห็นศักยภาพของประเทศว่า ตอนนี้เราสร้างคนในสาขาไหนที่น้อยหรือมากเกินไปหรือไม่ และคนตรงกับที่ต้องการหรือไม่ ทำให้เห็นแนวโน้มตลาดงานว่าต้องการคนประเภทนี้มากขึ้นหรือน้อยลง เมื่อเทียบกับการผลิตที่มันมากขึ้นหรือน้อยลงในสาขาเดียวกัน ซึ่งจะทำให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สามารถวางแผนกำลังการผลิตว่าจะต้องลดสาขานี้หรือไปเพิ่มสาขาใดในเชิงนโยบายของประเทศต่อไป”

รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวสรุปในช่วงท้ายว่า ตอนนี้ประเทศไทยทำ digital transcript ได้ประมาณ 2 ปีแล้ว แต่ว่าอาจจะไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ หรือ ทุกสถาบันการศึกษา หรือ ทุกบริษัทเอกชน ซึ่ง ณ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่สามารถออก digital transcript ได้  ในขณะที่ อว. มีข้อมูลตลาดงานอยู่จำนวนหนึ่งโดยเฉพาะบริษัทที่ใหญ่และมีการจ้างงานในประเทศ ซึ่งทั้ง  2 ฝ่ายร่วมมือกันอยู่แล้ว คิดว่าการขยายผลน่าจะอยู่ประมาณ3-5 ปี สิ่งสำคัญหลังจากนี้ คือ เจ้าของ digital transcript จะต้องเป็นผู้นำข้อมูลไปแชร์ให้เกิดการแมทช์ในการทำงาน ซี่งไม่ได้เป็นการแชร์ข้อมูลแบบสาธารณะ แต่เป็นการแชร์ให้นายจ้าง หรือ ผู้ประกอบการใช้ข้อมูลตัวนี้ที่จะค้นหาบุคคลที่ต้องการ  ที่เหลือหลังจากนี้ เราจะขยายวงให้กว้างขึ้น คือ การไปอยู่ที่สภาวิชาชีพ เพราะว่าบางหลักสูตรบางสาขาต้องมีวิชาชีพ เพราะฉะนั้นผู้ที่สำเร็จการศึกษา จะไม่ได้มี transcript เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีไปถึงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วย เห็นได้ว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลครั้งนี้  ช่วยลดขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลได้อย่างมาก และ ยังเป็นมาตรฐานใหม่ของการจัดเก็บข้อมูลในระบบการศึกษา ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นยังนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดอีกด้วย

Scroll to Top