มข. เปิดบ้านต้อนรับ ม.กรุงเทพ โชว์ KKU Transformation ฝ่าวิกฤตอุดมศึกษาไทย

            วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2566 เวลา 09.30 น.   รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ให้การต้อนรับผู้บริหารมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ประกอบด้วย รองอธิการบดี  ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการศูนย์ สถาบัน และสำนัก จำนวน 26 คน โดยการนำของ ผศ.สรรเสริญ  มิลินทสูตร  รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ  เข้าศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม 2566  โดยมี รศ.ดร.ไมตรี  อินทร์ประสิทธิ์  รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ  พร้อมด้วย  ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ  รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ภัทรวุฒิ วัฒนศัพท์  ผู้อำนวยการสถาบันเคเคยูอคาเดมี (KKU Academy)  คณะผู้บริหาร และบุคลากรสำนักบริการวิชาการ  ร่วมให้การต้อนรับ  ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร

รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

            รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  กล่าวว่า  “มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีพื้นที่รวม 5,500 ไร่ มี 19 คณะวิชา และ 5 วิทยาลัย มี 335 หลักสูตร มีแผนกลยุทธ์การบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัยในการที่จะทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและพัฒนาระดับโลก เน้น 3 มิติ คือ มิติด้านประชาคม (People) มิติด้านระบบนิเวศของวิทยาลัย (Ecological) และมิติด้านจิตวิญญาณแห่งความเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น (Spiritual) ซึ่งต้องบริหารการเปลี่ยนแปลง มีการปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยขอนแก่น KKU Transformation เนื่องจากปัจจุบันเกิดวิกฤตอุดมศึกษา และเล็งเห็นว่าเกิดจาก 5 ปัจจัย ดังนี้ 1. จำนวนการเกิดของประชากรไทยลดน้อยลง  2. ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการศึกษา (Disruptive Technologies)  3. การผลิตบัณฑิตไม่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ  4. มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และ 5. Geopolitics หรือผลกระทบทางภูมิศาสตร์ที่มีต่อการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

            “กล่าวโดยรวมได้ว่าการเกิดวิกฤตอุดมศึกษาไทย ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับวิกฤตทั้งหลายที่เกิดขึ้น โดยการปรับปรุงหลักสูตร การเน้นลูกค้ากลุ่มใหม่ คือ กลุ่มการศึกษาตลอดชีวิตเป็นการจัดการศึกษาเพื่อประชาชนทุกอายุ  การทำหลักสูตรที่เป็นที่ต้องการชองผู้ประกอบการการโดยปรับเปลี่ยนจากสอนให้รู้ เป็นสอนให้คิดเป็น ไม่อาศัยการท่องจำ สามารถเป็นผู้นำได้ ในส่วนของงานวิจัยต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการทำวิจัยตามความสนใจของนักวิจัย (Supply side) เป็นการทำวิจัยตามความต้องการของผู้ใช้งานหรือตามปัญหาของประเทศ (Demand side) โดยในช่วง 2 ปีแรกเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดและกระบวนการจัดการภายใน  ส่งผลให้ภาพรวมในการปรับเปลี่ยน KKU Transformation ตลอดระยะเวลา 4 ปี เป็นไปได้ดี  แต่ยังต้องเดินหน้าปรับเปลี่ยน KKU Transformation ต่อไป”

ผศ.สรรเสริญ  มิลินทสูตร  รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ

            ผศ.สรรเสริญ  มิลินทสูตร  กล่าวว่า  “ขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติต้อนรับและจัดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  และขอแสดงความยินดีในวาระครบรอบวันสถาปนา 59 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเรื่องของ Disruption การศึกษา เป็นสิ่งที่เชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยกำลังเผชิญและตระหนักในเรื่องนี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน แม้จะผ่านปัญหาหลายสิ่งในการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัย แต่ภาวะของการ Disruption ครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่และเป็นการปรับเปลี่ยนที่ต้องมีการเปลี่ยนทุกองคาพยพ”
            “สิ่งที่คิดว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากสิ่งที่เราวางแผนอย่างท่านอธิการบดีพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแนวความคิด การทำความเข้าใจ การหาวิธีการที่จะได้ผลลัพธ์ในการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด จุดที่พบว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือการไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หารือ และให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับตัวองค์กร จึงทำให้การคัดเลือกผู้ที่มาร่วมทีมในการทำงานวันนี้เป็นทีมที่เหมาะสมกับตัวพื้นที่ พื้นที่ของภาคอีสานเป็นพื้นที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจ เป็นจุดเชื่อมต่อหลายสิ่งที่เป็นโอกาสใหม่ ๆของโลก การมาในครั้งนี้จึงมีการคัดเลือกผู้ร่วมทีมที่คิดว่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการมองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ที่สำคัญคือการร่วมมือในการที่จะมองสิ่งต่าง ๆ แล้วหาความเป็นไปได้ร่วมกัน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพมีความยินดี และมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือในการที่จะทำโครงการต่าง ๆ หรือร่วมกันสร้างหลักสูตรกับทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นในอนาคต”

            ในการศึกษาดูงานในครั้งนี้  ในภาคเช้าได้มีการนำเสนอข้อมูลสถาบันเคเคยอะคาเดมี (KKU Academy มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมตอบข้อซักถาม  โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ภัทรวุฒิ วัฒนศัพท์  ผู้อำนวยการสถาบันเคเคยูอคาเดมี (KKU Academy)  การนำเสนอข้อมูลศูนย์จัดการศึกษาตลอดชีวิต (Center of Lifelong Education) สำนักบริการวิชาการ พร้อมตอบข้อซักถาม โดย รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ  ในภาคบ่าย เป็นการนำเสนอข้อมูลศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมตอบข้อซักถาม  โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา โสมาบุตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน  และในภาคเย็นได้นำคณะศึกษาดูงานเข้าร่วมกิจกรรม เติมพลังให้กับชีวิต เพลิดเพลินกับวิถีชุมชน “ศิลาโฮมสเตย์”  ณ ชุมชนศิลาโฮมสเตย์ บ้านศิลา ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น

            ในวันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2566  มีการแบ่งกลุ่มศึกษาดูงาน โดยกลุ่มที่ 1 เข้าศึกษาดูงานกองพัฒคุณภาพการศึกษา  โดย ดร.ภาวนา กิตติวิมลชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาคุณภาพการศึกษา  นำเสนอข้อมูลเรื่องเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ EdPEX พร้อมตอบข้อซักถาม  ณ  ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี  กลุ่มที่ 2  เข้ารับฟังการนำเสนอข้อมูลเรื่องการขอรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีทั่วโลก (Association to Advance Collegiate Schools of Business : AACSB) พร้อมตอบข้อซักถาม โดย คณะผู้บริหารคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี  ณ ห้องประชุม คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น  นับว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยขอนแก่น ของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภายใต้โครงการ BOE: Bangkok University Outcome-Based Education  เป็นอย่างดี

ข่าว/ภาพ   :   วัชรา  น้อยชมภู
ถอดเทป/ภาพ   :   พัชรพร  เพ็ชรตะกั่ว  นักศึกษาฝึกสหกิจศึกษา สาขาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

Scroll to Top