เมื่อวันอังคารที่ 20 ธันวาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีพุทธศักราช 2565 ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการนี้มีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปี 2565 ตามลำดับ ดังนี้ คณะวิทยาศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเทคโนโลยี คณะเทคนิคการแพทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น(ระดับปริญญาตรี) คณะนิติศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ คณะสหวิทยาการ(วิทยาเขตหนองคาย) วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุรินทร์, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ศรีมหาสารคาม
โดยเมื่อรถยนต์พระที่นั่งถึงด้านหน้าอาคารศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเวลา 09.00 น. นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 23 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.เอื้อนจิต พานทองวิริยะกุล ภริยาอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กรรมการสภาพร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น เฝ้าฯ รับเสด็จ จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเข้าสู่ห้องพิธี เพื่อพระราชทานปริญญาบัตร
เมื่อเสด็จออกสู่ห้องพิธี รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และ กราบบังคมทูลเบิก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กราบบังคมทูลรายงานจำนวนผู้สำเร็จการศึกษา
จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทาน ปริญญาบัตร ตามลำดับ และทรงพระราชทานพระราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2565 ความว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๔. ขอแสดงความชื่นชมต่อผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกคน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จ. บัณฑิตที่ประสบความสำเร็จ สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ ในวันนี้ คือผู้ที่ได้ตั้งใจพากเพียรในการศึกษาเล่าเรียนมาแล้วด้วยดี. เกียรติและความสำเร็จดังกล่าว นับว่าเป็นเครื่องรับประกันเบื้องต้น ว่าบัณฑิตมีความรู้ความสามารถ ที่จะนำไปใช้สร้างสรรค์ความสุขความเจริญให้แก่ตนเองได้ในวันข้างหน้า. แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตที่แท้จริงนั้น คือผู้ที่ใฝ่ใจศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง หมั่นทบทวนความรู้ที่มีอยู่เดิม และสนใจสร้างเสริมเพิ่มพูนความรู้ใหม่ ทั้งในด้านวิชาการ ในการดำเนินชีวิต และในการแก้ไขปัญหาต่างๆ. ทั้งนี้เพราะการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาตนเอง การเป็นผู้ศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นคุณลักษณะที่บัณฑิตทุกคนพึงมี. หากบัณฑิตตั้งใจฝึกฝนพัฒนาตนเองต่อไปโดยไม่ย่อท้อและเมื่อมีอุปสรรคปัญหาใดๆ เกิดขึ้น ก็พยายามแสวงหาหนทางแก้ไขให้ลุล่วงไป โดยถือว่าปัญหาทุกอย่างคือบทเรียนที่ท้าทายเชาวน์ปัญญาแล้ว แต่ละคนก็จะสามารถสร้างสรรค์ความสำเร็จที่สูงขึ้น คือนอกจากจะสร้างความสุขความเจริญในชีวิตและกิจการงานให้แก่ตนเองได้แล้ว ยังสร้างประโยชน์และความเจริญมั่นคงให้แก่สังคมและชาติบ้านเมืองได้อีกด้วย.
ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ทุกคน และผู้มาร่วมในพิธีนี้ทุกท่าน มีความสุขสวัสดีโดยทั่วกัน.”
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีพระราชทานปริญญาบัตร คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกตามลำดับดังนี้
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น (ทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) ผลิตภัณฑ์พื้นเมือง (ผ้าไหม) จำนวน 1 ชิ้น
ผศ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร (ทูลเกล้า ฯ ถวาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี)ผลิตภัณฑ์พื้นเมือง (ผ้าไหม) จำนวน 1 ชิ้น
รศ.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ ทูลเกล้า ฯ ถวาย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผลิตภัณฑ์พื้นเมือง (ผ้าไหม)จำนวน 1 ชิ้น
รศ.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทูลเกล้า ฯ ถวาย ไข่ไก่พื้นเมือง จำนวน 1 กระเช้า เมล็ดพันธุ์พริกและมะเขือเทศพันธุ์แท้ จำนวน 6 พันธุ์ ข้าวพันธุ์ มข.60-2 และชาข้าวกา Antho-rice ชีวภัณฑ์ Ba-Rice Protect KKU.1 จำนวน 300 ซอง (ซองละ 20 กรัม) และ เมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่ผลิตในโรงเรือนและมีการใช้ชีวภัณฑ์ Ba-Rice Protect KKU.1 จำนวน 3 กิโลกรัม
รศ.ดร.อรทัย เพียยุระ คณบดีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทูลเกล้า ฯ ถวาย หนังสือเรื่อง ภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ (THAI for FOREIGNERS) จำนวน 10 เล่ม และ หนังสือ THAI FOR BEGINNERS BASIC I) จำนวน 10 เล่ม
รศ.ดร.จุรีรัตน์ ดาดวง คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ ทูลเกล้า ฯ ถวาย อุปกรณ์ฝึกหายใจอเนกประสงค์ Breath Max สำหรับเพิ่มปริมาตรปอด ลดอาการหอบเหนื่อย ส่งเสริมการระบายเสมหะความดัน
รศ.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทูลเกล้า ฯ ถวาย ตำราเรื่อง “ฮวงจุ้ย” กับการออกแบบสถาปัตยกรรม ตำราเรื่อง “ภาวะโลกร้อน” กับการออกแบบสถาปัตยกรรมยั่งยืน และตำราเรื่องเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมของอาคาร : จากทฤษฎีสู่การวิจัยเพื่อการออกแบบสถาปัตยกรรม
ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ทูลเกล้า ฯ ถวาย ตำราจากกองทุนตาราคณะศิลปกรรมศาสตร์ การแสดง/เพอร์ฟอร์มมานซ์ : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเพอร์ฟอร์มมานซ์ เส้นทางสู่ดนตรีบำบัด
ศ.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ทูลเกล้า ฯ ถวาย หนังสือ เรื่อง “โฮมฮัก มูนมัง ป่าดงเฮา” เล่ม 2 จากศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2564 มีผู้ได้รับอนุมัติปริญญาในระดับต่าง ๆ ดังนี้ ปริญญาเอก 261 คน ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง 153 คน ปริญญาโท 868 คน ปริญญาตรี 6,151 คน รวมทั้งสิ้น 7,433 คน ซึ่งพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2565 กำหนดจัดขึ้น 2 วัน คือวันที่ 19-20 ธันวาคม พ.ศ. 2565 อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวิสัยทัศน์มุ่งสู่ “มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก” โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกเป็นหนึ่งสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก และมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ตามนโยบายของประเทศ ส่งผลให้ปีล่าสุดถูกจัดอันดับโดย THE Impact Ranking เป็นอันดับ 1 ของประเทศ ในด้าน SDG1 No Poverty และ SDG2 Zero Hunger และอันดับต้น ๆ ของประเทศใน SDG3 Good Health, SDG4 Quality Education และ SDG5 Gender Equality นอกจากนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความมุ่งมั่นในการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) การเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและการพัฒนาการศึกษาด้วยนวัตกรรมของภูมิภาคและประชาคมอาเซียน ศูนย์กลางด้านการแพทย์และการแก้ปัญหาสุขภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมุ่งสู่การพัฒนาเมืองน่าอยู่และเมืองอัจฉริยะ (SMART CITY) สร้างนวัตกรรมเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนและความผาสุกของสังคม โดยสะท้อนค่านิยมด้านการอุทิศเพื่อสังคม (Social Devotion)
ข่าว : กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น