สร้างความอุ่นใจให้นักวิ่งกับมาตรฐานใหม่ด้านความปลอดภัย เมื่อหมอ มข.ชวนเพื่อนหมอและจิตอาสา หนุนขอนแก่นมาราธอนนานาชาติวิ่งประกบเต็มระยะให้การช่วยเหลือตลอดเส้นทาง

นักวิ่งชื่นชมระบบการช่วยเหลือที่รวดเร็วใกล้ชิด ด้วยการอบรมเข้มเตรียมความพร้อมเพื่อให้จิตอาสา100คนปฏิบัติภารกิจตลอดเส้นทางของการวิ่งทั้ง 3 ประเภท”

การจัดการแข่งขันขอนแก่นมาราธอนนานาชาติ 2020 (Khon Kaen International Marathon 2020)เมื่อ 26 มกราคม 2563 ซึ่งเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชนที่ให้การสนับสนุน พร้อมด้วยชุมชนรายทางและประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่นที่ให้การต้อนรับนักวิ่งกว่า 40,000 คนเสมือนแขกผู้มาเยือนให้ได้รับความอบอุ่นประทับใจและความปลอดภัยตลอดการแข่งขัน ซึ่งนอกจากนี้ยังมีกลุ่มจิตอาสาทางการแพทย์ซึ่งเป็นนักวิ่งที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ อาทิ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด ทั้งภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นและเครือข่ายทางการแพทย์จากภายนอก และผู้ที่มีความรู้ในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและการปฐมพยาบาล ที่สมัครอาสาเข้ามาช่วยภาระกิจการแข่งขันภายใต้ชื่อ Medical Team อีกจำนวน 100 คนที่มาเติมเต็มให้ระบบการดูแลนักวิ่งมีความสมบูรณ์แบบเป็นปีแรกของการจัดการแข่งขัน

            ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ หรือ หมอเอ๋ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายปฐมพยาบาลเชิงรุกขอนแก่นมาราธอนนานาชาติ เผยว่าเหตุผลสำคัญของการริเริ่มโครงการนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือนักวิ่งที่อาจได้รับบาดเจ็บตั้งแต่การบาดเจ็บเล็กน้อยไปจนถึงที่มีอาการหนักเพื่อให้ทุกคนได้มีความปลอดภัย ซึ่งเราได้เห็นข่าวที่เกิดขึ้นกับนักวิ่งแล้วเรารู้สึกว่าเราต้องมีความพร้อมในระบบดูแลที่ใกล้ชิดตลอดเส้นทาง ซึ่งการใช้นักวิ่งที่มีความรู้มีประสบการณ์ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ววิ่งปะปนเข้าไปในนักวิ่งจะทำให้เราสามารถสังเกตอาการและเข้าช่วยเหลือหรือประสานงานมายังศูนย์ได้ทันท่วงที เป็นกลไกการเชื่อมต่อของระบบการช่วยเหลือที่เรายังไม่เคยมี โดยปัญหาของนักวิ่งส่วนใหญ่นักวิ่งเองอาจไม่รู้มาก่อนถึงสภาพของร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่ลงแข่งขันเพราะเป็นภาวะที่ร่างกายมีความเครียดต้องการเลือดไปเลี้ยงหัวใจมาก จึงมีตั้งแต่น้อยไปหามากคือปัญหาของการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ การเป็นตะคริว การสูญเสียสารเกลือแร่ในเลือด ไปจนถึงการเต้นของหัวใจผิดปกติ ที่ถึงขั้นวูบหมดสติได้จึงต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว

การอบรมเตรียมความพร้อมของทีมจิตอาสาทางการแพทย์

      “ในฐานะที่เป็นนักวิ่งคนหนึ่งเมื่อเห็นการจัดงานที่มีคนมามากๆและเป็นงานที่พวกเราต้องเกี่ยวข้องในฐานะเจ้าของบ้านอยู่แล้วอยากให้ทุกคนได้วิ่งอย่างสนุกมีความปลอดภัย พวกเราที่มาช่วยเหลือล้วนเป็นจิตอาสาที่มาด้วยใจเมื่อเราเริ่มโครงการและส่งข่าวสารออกไป มีการตอบรับสมัครเข้ามาร่วมทีมเต็มตามจำนวนอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ทุกคนได้ทำในวันนี้ ผลตอบแทนได้ทันทีคือความสุขใจ และที่สำคัญนักวิ่งที่ได้รับความช่วยเหลือจะมีแรงบันดาลใจที่จะส่งต่อความช่วยเหลือให้คนอื่นๆต่อไป” ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ

ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ หรือ หมอเอ๋ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายปฐมพยาบาลเชิงรุกขอนแก่นมาราธอน

การเตรียมความพร้อมและการซักซ้อมทำความเข้าใจให้กับMedical Team ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2563 โดยมีกิจกรรมการอบรมภาคปฏิบัติการกู้ชีพ การให้ความรู้เรื่องเทคนิคการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและการจัดการตะคริว โดย อ.ดร.กภ. ฉัตรชัย พิมพศักดิ์ คณะเทคนิคการแพทย์ มข. และการซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติงาน การใช้อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ ระบบการสื่อสารและการส่งต่อผู้ป่วย โดย ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ โดยมีจิตอาสา Medical Team เข้าร่วมการอบรม
              นพ.วีระยุทธ หุมอาจ หรือหมอตั้ม แพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น สมาชิกทีม Medical Team ที่ลงปฏิบัติงานครั้งนี้กล่าวว่า โดยปกติเป็นนักวิ่งคนหนึ่งที่มาร่วมการแข่งขันแต่ครั้งนี้เกิดมุมมองใหม่ว่าการวิ่งของเราที่สามารถสร้างประโยชน์แก่คนรอบข้างในสิ่งที่เรามีความรู้น่าจะเป็นการวิ่งที่มีคุณค่า จึงได้สมัครเข้าร่วมทีมด้วยความความตั้งใจเต็มที่ ซึ่งจากประสบการณ์เคยเห็นนักวิ่งที่ช่วยเหลือกันระหว่างทางเป็นภาพที่เราชื่นชมเลยคิดว่าเมื่อมันเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้และเป็นสิ่งที่นักวิ่งต้องการได้ความช่วยเหลือน่าจะเป็นวิธีปฏิบัติที่ดีทางหนึ่งซึ่งก็ตรงกับแนวทางของMedical Teamที่ทำให้สิ่งนี้เป็นระบบขึ้น เกิดพลังของการช่วยเหลือกันที่เป็นกลุ่มก้อนชัดเจน ยังเป็นโอกาสของการได้ทำงานจิตอาสาเพื่อคนอื่นอีกด้วย

นพ.วีระยุทธ หุมอาจ Medical Team KKIM2020
คุณ จันจิราภรณ์ บำรุง พยาบาลวิชาชีพ Medical Team KKIM2020

การจัดระบบของMedical Teamในครั้งนี้เป็นปีแรกในการจัดการแข่งขันขอนแก่นมาราธอน โดยทีมจิตอาสาจำนวน100คน สวมเสื้อและเครื่องหมายที่เห็นได้ชัดเจนแตกต่างจากนักวิ่ง จะวิ่งตามระยะจริงของนักวิ่ง ยกเว้นในประเภทมาราธอน ระยะทาง 42.195 กิโลเมตรที่มีการส่งต่อแบ่งพลัดการทำงาน เน้นการกระจายตัวของทีมให้ทั่วถึงนักวิ่ง ซึ่งทีมจะต้องนำสัมภาระที่ประกอบด้วยเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและน้ำดื่มไปเองกับกระเป๋าหลังพร้อมเครื่องมือสื่อสารโทรศัพท์มือถือที่พร้อมใช้งานได้อย่างทันที โดยตลอดระยะทางได้มีนักวิ่งที่ขอรับความช่วยเหลือเป็นจำนวนมากทั้งอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ การเป็นตะคริว อาการอ่อนเพลียเป็นลม บาดแผลสดจากการหกล้ม ผิวหนังถลอกรองเท้ากัด ซึ่งทีม Medical Team ได้ให้การช่วยเหลือและส่งต่อได้อย่างดียิ่ง จนเป็นที่ชื่นชมของนักวิ่งที่ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในช่องทาง Social Media และการมาแสดงความคิดเห็นและแสดงความขอบคุณทีม Medical Team ด้วยตัวเองเป็นจำนวนมาก

คุณ จันจิราภรณ์ บำรุง พยาบาลวิชาชีพภาควิชาวิสัญญีวิทยา ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาชิกทีม Medical Team กล่าวว่า เคยได้ยินข่าวคนไข้นักวิ่งที่มีอาการ Arrest รุนแรงแล้วรู้สึกไม่อยากให้เกิดขึ้น ถ้าเราอยู่กับเขาวิ่งไปกับเขาแล้วช่วยได้น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ในฐานะเป็นบุคลากรทางการแพทย์และเป็นคนที่ชอบการวิ่งอยู่แล้วจึงอยากทำงานอาสาด้านการแพทย์ โดยได้ร่วมงานครั้งแรกกับรายการวิ่งกับนายช่าง มข.มาแล้ว ครั้งนี้ก็ตั้งใจอยากทำหน้าที่ด้วยความรู้ที่เรามีเชื่อว่าการได้วิ่งไปพร้อมๆนักวิ่งจะมีโอกาสช่วยเหลือที่รวดเร็ว

ระหว่างทางนักวิ่งจิตอาสาทีม Medical Team ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ภายใต้การประสานงานที่เข้มแข็งจากผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ หรือ หมอเอ๋ ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายปฐมพยาบาลเชิงรุกขอนแก่นมาราธอนนานาชาติที่คอยสื่อสารผ่านศูนย์อำนวยการภายในงานไปยังนักวิ่งจิตอาสาทุกคนผ่านช่องทาง โทรศัพท์ และ Application line เพื่อติดตามให้ความช่วยเหลือและกำลังใจระหว่างกันและกันเนื่องจากนักวิ่งจิตอาสาหลายคนก็มีอาการเหนื่อยล้าจากการวิ่งเช่นเดียวกับนักวิ่ง และบางจุดก็ประสบปัญหาเวชภัณฑ์ที่เตรียมไปไม่เพียงพอ ซึ่งทีมจิตอาสาทางการแพทย์ทุกคนที่มารวมตัวกันหลังเสร็จสิ้นภาระกิจในแต่ระยะเพื่อบอกเล่าประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อปัญหาในการทำงาน นักวิ่งจิตอาสาทุกคนมองเห็นร่วมกันว่ากิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่ดีและมีประโยชน์ทั้งต่อผู้มาร่วมการแข่งขันและต่อนักวิ่งจิตอาสาเองในด้านการได้ออกมามีส่วนร่วมงานจิตอาสาเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นตามเจตนารมณ์ในวิชาชีพ ยกระดับมาตรฐานการจัดการแข่งขันขอนแก่นมาราธอนไปสู่มาตรฐานที่สูงขึ้นต่อไป


ข่าว- อุดมชัย สุพรรณวงศ์ สมาชิก Medical Team
ภาพ- Application line -Medical Team 2020

 

Scroll to Top