คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มข. จับมือ ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) และผลิตภัณฑ์วัตถุก่อสร้าง ร่วม MOU ทางวิชาการ ตอบโจทย์การพัฒนาบุคลากร โดยใช้ BIM & Digital Construction

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 เวลา 14.30 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาบุคลากร การใช้ BIM & Digital Construction ระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด และ บริษัท ผลิตภัณฑ์วัตถุก่อสร้าง จำกัด โดยมี รองศาสตราจารย์เพียรศักดิ์  ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณสุรชัย  นิ่มละออ Managing Director-Upper Mainland and Border Market บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด และ คุณวีรกร  สายเทพ Digital Construction Director – CPAC เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยมีผู้ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน ประกอบด้วยรองศาสตราจารย์รัชพล  สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ชูพงษ์  ทองคำสมุทร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณณรงค์ศักดิ์  ตันติธนกิจ ผู้อำนวยการกิจการ CPAC ภาคอีสาน และ คุณศิริมงคล ธรรมรักษ์ CPAC Solution Center Director ขอนแก่น ณ ห้องสัมมนา 1 ชั้น 9 ตึกเพียรวิจิตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์เพียรศักดิ์  ภักดี  กล่าวว่า ในนามของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับทุกท่าน ในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด และ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ในวันนี้ ตามที่ทั้ง 3 หน่วยงานข้างต้น ได้ตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของการร่วมมือกัน ด้านการศึกษาและพัฒนาบุคลากร งานวิจัยและพัฒนา การบริหารจัดการองค์ความรู้ และการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการใช้ BIM (Building Information Modeling) และ Digital Construction ในอุตสาหกรรมก่อสร้างรวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่เชื่อมโยง ที่จะส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับประเทศ นั้น ล้วนแต่สอดคล้องกับค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการอุทิศตนเพื่อชุมชน จัดการบนข้อมูลจริง วิ่งสู่สากล บนความเปิดกว้าง สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังพันธกิจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาชั้นสูง ที่มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริม ประยุกต์และพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม และทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มุ่งหวังจะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก   “ขอขอบคุณบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด และ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ในความร่วมมือกันในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยความมุ่งมั่นของทั้ง 3 หน่วยงาน จะทำให้การลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ บรรลุวัตถุประสงค์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้” รองศาสตราจารย์เพียรศักดิ์ กล่าว

 คุณวีรกร  สายเทพ กล่าวว่า ในนามของ บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ “CPAC” ขอขอบพระคุณท่านรองอธิการบดี และท่านคณบดีทั้งสองท่านเป็นอย่างสูงที่กรุณาให้ CPAC เข้าไปมีส่วนร่วมเสริมสร้าง ถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อบุคลากรรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญของบ้านเราให้มีความสามารถ พร้อมทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ CPAC ดำเนินงานตามนโยบายหลักของ SCG ที่ให้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) และ ยังสนับสนุนการผลักดันเรื่อง Net Zero อย่างเต็มกำลังความสามารถ บทบาทของ CPAC มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานงานก่อสร้างของประเทศให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการก่อสร้าง เพื่อ Turn Waste to Value ด้วยแนวคิด “Green Solution” และประยุกต์ใช้ แนวคิดทั้งทางด้าน Value Engineering และ Integrate ดิจิตัลเทคโนโลยี เข้ามาใช้ในงานก่อสร้าง เป็น Digital Construction ที่จะมีบทบาทอย่างมาก ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพและการตอบโจทย์การทำงาน CPAC พัฒนา CPAC BIM Platform เพื่อชี้เห็นให้ถึงประโยชน์พื้นฐานของการกระบวนการ BIM (Building Information Modelling) ที่เน้นการทำงานร่วมกันวางแผนการใช้ข้อมูลบน Single Data Platform และส่งต่อข้อมูลร่วมกันตลอดทั้ง Value Chain การก่อสร้าง และนำข้อมูลไปใช้ต่อในการบำรุงรักษาอาคาร นอกจากนี้แล้วยังมีโซลูชั่นอื่นที่นำเอาเทคโนโลยีทั้งด้านการก่อสร้าง และดิจิทัล (Digital & Construction Technology) เพื่อช่วยแก้ปัญหาการก่อสร้างที่ไม่มีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างให้ทุกท่านเห็นภาพ ได้แก่ CPAC DRONE เป็นการเก็บข้อมูลพื้นที่จริงด้วย Drone และ นำข้อมูลไปวางไว้บน Point Cloud เพื่อจำลองภาพหน้างาน , ถัดไป CPAC 3D Printing ที่สามารถทำให้ทะลุข้อจำกัดการออกแบบในอดีต สามารถ Design ให้โค้งมนได้ตามจินตนาการ และที่สำคัญกว่านั้นเทคโนโลยีแบบนี้ช่วยลด Waste ได้อย่างชัดเจนเพราะเราสามารถคำนวนปริมาณการใช้ Material ได้อย่างแม่นยำตามแบบ สุดท้ายเป็นเรื่องของการก่อสร้างด้วยวัสดุคอนกรีตใหม่ที่มีสมรรถนะสูงหรือที่เรียกว่า Ultra High Performance Concrete ซึ่งสามารถนำไปใช้ลดการใช้ทรัพยากรได้เช่นกันและมีความแข็งแรงทนทานกว่าคอนกรีตทั่วถึง 3 เท่า เรื่องใหม่ ๆ เหล่านี้ท้าทายพวกเรามากครับ  หลายเรื่องเราต้องร่วมกับภาครัฐพัฒนามาตรฐานใหม่ ๆ และให้เกิดความเข้าใจในทุก Stake Holders แน่นอนว่า SCG CPAC จึงเริ่มต้นให้ความสำคัญกับภาคการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวะซึ่งเป็นแหล่งผลิตบุคลากรรองรับตลาดแรงงานที่ต้องการคนมีความรู้ความสามารถด้านนี้อย่างมาก การที่ SCG CPAC มุ่งมั่นเรื่อง ESG และเชื่อมโยงสู่เป้าหมาย Net Zero นั้น เริ่มต้นจากองค์กรสู่องค์กร และขยายไปสู่ความร่วมระดับสากล ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญคือ ความร่วมมือ ซึ่งในวันนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและ CPAC ได้บรรลุถึงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่าย เราพร้อมที่จะก้าวนำสังคมด้วยการพัฒนาวิชาการและบุคลากร ให้เติบโตอย่างยั่งยืนตลอดไป

 คุณสุรชัย  นิ่มละออ กล่าวว่า ในนามของ ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด และ Upper Mainland and Border Market ซึ่งดูแลธุรกิจของ CCS ในภาคเหนือ และ ภาคอีสาน มีความยินดีอย่างมากที่ได้มีโอกาสสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกวาระหนึ่ง และ เป็นวาระของการพัฒนาความรู้ BIM  และ  Digital Construction ให้กับบุคคลากรรุ่นใหม่ที่จะก้าวออกไปสู่การประกอบวิชาชีพและสร้างสรรค์สังคมในแขนงต่าง ๆ ของประเทศ CPAC – Construction Solution Center ดูแลพื้นที่ภาคอีสานมี 5 สาขา ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี และ สกลนคร รวมทั้งสิ้น 20 จังหวัด ในช่วง 2-3 ปีนี้ เราได้แนะนำ Solution ในด้านงานก่อสร้าง ที่ใช้ ทั้ง BIM และ Digital Construction เข้าไปทำงานให้ลูกค้าให้ได้เห็นการทำงานจริง และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นงานกลุ่ม Infrastructure / กลุ่ม Residential และ กลุ่ม Commercial ลูกค้ารับรู้วิธีการทำงานที่ให้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ สร้างความพึงพอใจของลูกค้าได้ดีมากขึ้น ตอกย้ำความเชื่อมั่นในแนวทางและทิศทางธุรกิจในอนาคตที่ต้องนำเรื่อง Digitization เข้ามาใช้และขยายผลให้กับลูกค้าและกลุ่มผู้รับเหมาให้ใช้ทำงานได้จริง นอกจากที่เราจะพัฒนาบุคลากรของเราเองแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการรับรู้ของกลุ่มที่ทำงานร่วมกันผู้ออกแบบ แม้กระทั่ง Owner เอง ให้ทุกกลุ่มทุกคนได้เห็นและมีประสบการณ์ใหม่ร่วมกัน สร้างพลังแห่งการเรียนรู้ ดิจิตัลจะก้าวหน้าไปได้ไกลแค่ไหน อยู่ที่พื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่ง คือพลังแห่งการ Collaboration และ BIM คือ Tools ที่ให้ความสำคัญกับการ Collaboration และการใช้ประโยชน์จาก Single Source of Truth ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้มาตรฐานการทำงานในการสื่อสารกัน ให้เข้าใจตรงกัน เห็นภาพเดียวกัน ผมและทีมงานได้เรียนรู้และตระหนักว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลุกพลังความร่วมมือให้เกิดขึ้นตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ภาคเอกชนเข้าร่วมเสริมสร้างความรู้ เปิดประสบการณ์ให้บุคลากรนักศึกษาเข้าถึง เข้าใจในกระบวนการหรือเทคโนโลยีระดับโลกให้สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงในบ้านเรา ในภูมิภาคของเรา ให้โอกาสน้อง ๆ นักศึกษา เรียนรู้แบบพี่สอนน้อง การมีโอกาสเข้าถึงประสบการณ์การทำงานจริง เหล่านี้ จะเป็นความภาคภูมิใจทั้งผู้ให้และผู้รับ เป็นประสบการณ์ที่ดีมีคุณค่า เชื่อว่าวันหนึ่งข้างหน้าพลังของคนรุ่นใหม่ที่พวกเราใส่ใจในวันนี้จะสามารถเติบโตเป็นผู้นำ ผู้ให้ ผู้สร้าง ผู้ยกระดับมาตรฐาน และ ผู้พัฒนาความเจริญให้กับประเทศ และสังคมสืบเนื่องตลอดไป   “ขอขอบคุณท่านรองอธิการบดี ท่านคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ท่านคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ให้ความไว้วางใจและมอบโอกาสเป็นผู้สร้างให้กับ ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) และ ทีมงาน CPAC Construction Solution – ภาคอีสาน ในการสร้างความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ให้กับลูกศิษย์ของทุกท่าน”คุณสุรชัย กล่าว







Scroll to Top