ศูนย์บริหารเวลเนสและเขตนวัตกรรมทางการแพทย์ มข. เตรียมกำหนดเขตนวัตกรรมการแพทย์กังสดาล สู่การเป็นศูนย์กลางนวัดกรรมทางการแพทย์ในระดับนานาชาติ

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2567 เวลา 13.00 น.  รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมหารือและแลกเรียนรู้เกี่ยวกับการบูรณาการแผนพัฒนาเขตนวัตกรรมการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งศูนย์บริหารเวลเนส และเขตนวัตกรรมทางการแพทย์ สำนักงานอธิการบดี  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้จัดขึ้น  โดยมี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณบดีคณะต่างๆ นายกสมาคมการผังเมืองไทย  ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น  นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น  นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศิลา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านเป็ด  ผู้แทนแขวงการทางขอนแก่น  ผู้แทนผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กว่า 60 คน เข้าร่วมประชุม  เพื่อรับทราบ และรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ให้สมบูรณ์แบบ และส่งผลกระทบทางลบแก่ชุมชนที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด  ณ ห้องประชุมสารสิน  อาคารสิริคุณากร  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในครั้งนี้  ได้มีการบรรยายสรุป การพัฒนาเขตนวัตกรรมฯ และการพัฒนากายภาพและโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยและพื้นที่ต่อเนื่อง โดย รศ.นพ.ชลธิป พงค์สกุล รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริหารเวลเนสและเขตนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในหัวข้อ “กิจกรรมการแพทย์และเวลเนสในเขตนวัตกรรมฯ”   ผศ.ดร. ชำนาญ บุญญาพุทธิพงษ์ และ .ดร.ณัฏฐ์ ละเอียดอ่อน  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  บรรยายในหัวข้อ “ผังเขตนวัตกรรมและการออกแบบสถาปัตยกรรมอาคารศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ฯ”   นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย  บรรยายในหัวข้อ “การออกแบบปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการบูรณาการทางกายภาพกับองค์กรปกครองท้องถิ่นโดยรอบมหาวิทยาลัย”  และการบรรยายปิดท้ายโดยนายชาญณรงค์ บูริสตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น  ในหัวข้อ “เขตนวัตกรรมฯ กับการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพของจังหวัดขอนแก่น”

จากนั้น  เป็นการรับฟังความคิดเห็นเชิงลึกด้านการบูรมากรแผนโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมือง โดย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น  นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศิลา  นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านเป็ด  ผู้แทนแขวงการทางขอนแก่น   ผู้แทนผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัย  และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยมี นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย  สรุปผลการรับฟังความเห็นและแนวทางในการบูรณาการแผนโครงการเขตนวัตกรรมทางการแพทย์กังสดาล

จากมติที่ประชุมของคณะกรรมการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติ ครั้งที่ 2/2565 ลงวันที่ 29 กันยายน 2561 รับรองเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย โดยให้ประกาศเป็นทางการพร้อมให้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนา และออกกฎหมายเป็นการเฉพาะเพื่อบังคับใช้ พร้อมด้วยการพัฒนาเขตนวัตกรรมทางการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพ พร้อมระบบสิทธิประโยชน์ เพื่อให้เขตนวัตกรรมทางการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพเป็นพื้นที่เศรษฐกิจมูลค่าสูง ก่อให้เกิดการลงทุนในกิจการที่ต่อเนื่อง ตอบสนองต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และการจ้างงาน นวัตกรรมที่มีความยั่งยืน พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนส มี 8 เขตโดยขอนแก่นอยู่  ในเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งรวมหนองคาย และอุดรธานีด้วย  มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับมอบหมาย ให้ประสานงานในการก่อให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

เขตนวัตกรรมการแพทย์กังสดาล (Kangsadan Medical Innovative District Khon Kaen University (KMID)) เป็นเขตพื้นที่ในการสร้างนวัตกรรมและบริการทางการแพทย์แบบองค์รวม ซึ่งจะมีบริเวณพื้นที่ครอบคลุมคณะในศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยีและสังคม รวมถึงที่ดินของเอกชนบริเวณทิศใต้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ ที่สร้างนวัตกรรมจากสินทรัพย์ทางกายภาพ สินทรัพย์ทางเศรษฐกิจและสินทรัพย์ด้านเครือข่าย โดยจะเน้นการส่งเสริมนวัตกรรม ผ่านความร่วมมือแบบสหวิทยาการ ระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม จุดเน้นในระยะแรกคือ การเสริมสร้างสุขภาพผ่านการแพทย์แม่นยำเฉพาะบุคคล และการต่อความต้องการ ของผู้สูงอายุด้วยโปรแกรมการดูแลที่ทันสมัย ซึ่งผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้มีการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพและยกระดับการให้บริการ สำหรับประชากรในพื้นที่และภูมิภาค  เป็นศูนย์กลางการดูแลผู้สูงอายุครบวงจรและต่อเนื่องในเขตภูมิภาค  สามารถดึงดูดผู้ป่วยจากต่างประเทศและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์   เพิ่มโอกาสการจ้างงานในภาคการดูแลสุขภาพ การวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์  และสร้างขอนแก่นให้เป็นศูนย์กลางนวัดกรรมทางการแพทย์ในเขตภูมิภาค

การพัฒนาเขตนวัตกรรมการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ. 2568 – 2577) ตามวิสัยทัศน์  ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสุขภาพของโลก (Thailand Medical Hub Destination of the World)  เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของโลก  มีการขยายตัวมูลค่าทางเศรษฐกิจสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน (GDP)  มีกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ผ่านกลไกคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)

ข่าว   :   วัชรา  น้อยชมภู
ภาพ  :   ณัฐวุฒิ   จารุวงศ์

KKU Sets Sights on International Medical Innovation Hub with Kangsadan Medical Innovation District

https://www.kku.ac.th/18530

   

Scroll to Top