__________ นายกฤษฎากร ภูกาบเงิน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 นายศราวุฒิ พุทธา และ นางสาวทิติภา ชินทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมมือกันจัดตั้งทีม “MTP มนุษย์ตัวจี๊ด” สมัครเข้าร่วมโครงการ NEWSGEN by dtac ของ workpointTODAY ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดเวทีให้โอกาสคนรุ่นใหม่เข้ามาแข่งขันการทำข่าว โดยเปิดรับสมัครนิสิต นักศึกษา เยาวชน ไม่จำกัดอายุ ทีมละไม่เกิน 3 คน ที่มีความสนใจด้านงานสื่อสารมวลชน แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภท Business Journalist เป็นการแข่งขันการทำสกู้ปด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ธุรกิจ บริหารองค์กร และประเภท Video Journalist เป็นการทำข่าว และสกู้ปด้านใดก็ได้ เน้นสร้างผลกระทบต่อสังคม โดยทีมที่ชนะการแข่งขันจะได้รับรางวัลหนึ่งแสนบาท พร้อมโอกาสในการร่วมงานกับทีม workpointTODAY โดยจัดการแข่งขันขึ้นในระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา
__________ทีม “MTP มนุษย์ตัวจี๊ด” ได้เข้าร่วมแข่งขันด้าน Video Journalist โดยลงพื้นที่ถ่ายทำสกู้ปที่อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น และสามารถผ่านเข้าไปเป็น 1 ใน 5 ทีมสุดท้าย ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลชมเชย จากทีมผู้สมัครทั่วประเทศกว่า 150 ทีม
__________กฤษฎากร ภูกาบเงิน ตัวแทนทีม “MTP มนุษย์ตัวจี๊ด” กล่าวถึงความเป็นมาของการลงแข่งขันในครั้งนี้ว่า “เห็นประกาศรับสมัครเข้าร่วมแข่งขันโครงการ NEWSGEN by dtac ของทาง workpointTODAY เป็นการแข่งขันออนไลน์ จึงร่วมทีมกับรุ่นพี่ในสาขาวิชาภาษาไทย โดยสมัครเมื่อเดือนเมษายน 2564 ซึ่งได้รับการสนับสนุนการลงพื้นที่จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ ทีม “MTP มนุษย์ตัวจี๊ด” เลือกประกวดในประเภท Video Journalist ซึ่งเป็นการประกวดทำสกู๊ปข่าว โดยลงพื้นที่ทำข่าวในสถานที่จริง ที่อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น”
__________“การแข่งขันเป็นการคัดเลือกจากใบสมัครในรอบแรกและคัดเหลือจำนวน 70 ทีม เพื่อเข้าไปแข่งในโจทย์ถัดไป การแข่งขันมีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ในรอบที่ 2 คัดออกเหลือ 30 ทีม แยกออกเป็นประเภทละ 15 ทีม โดยได้รับโจทย์ในการทำสกู๊ปจากทางสำนักข่าวในหัวข้อ “สกู๊ปที่มีผลกระทบต่อสังคม” ทีม “MTP มนุษย์ตัวจี๊ด” จึงตกลงนำเสนอในหัวข้อ “โควิดพ่นพิษ สายสัมพันธ์อีสานร้าว ต่างคนต่างระแวง” นำเสนอความเป็นอีสานโดยสะท้อนจากมุมมองของคนที่กลับคืนมาอยู่บ้านมาเป็นผู้กักตัว และมุมมองจากคนในชุมชน ซึ่งมีระยะเวลาในการผลิตผลงาน 2 สัปดาห์ และได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เป็น 1 ใน 5 ทีมของประเภท Video Journalist เพื่อหาผู้ชนะเลิศประเภทละ 1 ทีม ซึ่งอีก 4 ทีมที่เหลือจะได้รางวัลชมเชย ในรอบชิงชนะเลิศ ทีม“MTP มนุษย์ตัวจี๊ด” ได้นำเสนอสกู๊ปข่าวในหัวข้อ “ชีวิตไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในสังคมไทย” ผลการแข่งขันได้รับรางวัลชมเชย พร้อมรางวัลเงินสด 10,000 บาท และของรางวัลจาก anitech”
__________กฤษฎากร ภูกาบเงิน กล่าวในท้ายที่สุดว่า “เราไม่คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ด้วยซ้ำเพราะการแข่งขันแต่ละรอบ ทุกทีมมีผลงานโดดเด่นมากครับ พอผลการแข่งขันออกมาจึงรู้สึกภาคภูมิใจ ดีใจ และประทับใจมากที่ได้รางวัลกลับมา แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการได้ฝึกประสบการณ์ และการทำงานจริง เห็นทั้งความสำเร็จ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นับว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดีและนำมาปรับใช้ได้จริง อยากขอขอบคุณในโอกาสครั้งนี้ที่ได้เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วมการแข่งขัน ขอขอบคุณการสนับสนุนจากทางคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วาลี ปรีชาปัญญากุล ที่คอยให้คำแนะนำ ปรับแก้ในการผลิตผลงาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารศรี สอทิพย์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและสื่อสารองค์กร ที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ขอขอบคุณสาธารณสุขอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ทำให้เราได้คว้ารางวัลนี้มาได้ ทุกท่านคือความสำเร็จเราจะขาดบุคคลใดบุคคลหนึ่งไปไม่ได้ ขอขอบคุณจากใจจริงครับ”
__________แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แต่ยังมีเรื่องที่สร้างความภาคภูมิใจ และน่ายินดีที่นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คว้าชัยเอาชนะผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 150 ทีม มาเป็น 1 ใน 5 ของการแข่งขันประเภท Video Journalist สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกครั้ง
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู
ขอบคุณข้อมูลข่าว : ผศ.มารศรี สอทิพย์ / กฤษฎากร ภูกาบเงิน