ม.ขอนแก่นผนึกกำลังเอกชน ผุด ‘เครื่องกำเนิดก๊าซโอโซน’ หนุนนศ.มีส่วนร่วมพัฒนานวัตกรรมฆ่าเชื้อโควิด-19 เล็งขยายผลสู่วงกว้าง

ท่ามกลางบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ หลายประเทศให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ประเทศไทยจึงต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยให้ความสำคัญกับการคิดค้นนวัตกรรมและการผลักดันงานวิจัยของมหาวิทยาลัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีกระบวนการสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) เพื่อเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ก่อนจะนำออกสู่ตลาด ทำให้ผู้ผลิตได้ทราบข้อแก้ไขเพื่อนำมาปรับปรุงให้สะดวกต่อการใช้งานตามความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการออกแบบรูปลักษณ์ให้มีความสวยงามโดดเด่น ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมได้มากขึ้นด้วย

แต่ด้วยความยากและต้องอาศัยการบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายศาสตร์จึงเป็นอุปสรรคต่อนักวิจัยหรือภาคเอกชนผู้คิดค้นนวัตกรรมเป็นอย่างมาก การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาจะช่วยตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าวและสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีมูลค่าและให้คุณค่าต่อสังคมได้ บริษัท อินเตอร์ วอเตอร์ทรีทเม้นท์ จำกัด ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ผ่านกลไกการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ จึงได้จัด “โครงการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรม‘เครื่องกำเนิดก๊าซโอโซน (Prozone7 Modified)’” เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมของภาคเอกชนให้เข้มแข็งและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้แสดงศักยภาพ ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการจริง ทั้งนี้ ได้จัดการประกวดรอบตัดสินในรูปแบบออนไลน์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก 1) คุณเฉลิมชัย วงษ์นาคเพ็ชร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ วอเตอร์ทรีทเม้นท์ จำกัด 2) ศาสตราจารย์ชลวุฒิ พรหมสาขา ณ สกลนคร อาจารย์ประจำหลักสูตรการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และ 3) ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นกรรมการตัดสินผลงานการออกแบบ ณ ห้องประชุม Meeting Room 1 อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น)

ผลการประกวด โครงการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเครื่องกำเนิดก๊าซโอโซน (Prozone7 Modified) ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ : นางสาวนันทนา ดอนสิงห์ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 :  นายจิรัฏฐ์ โคตรศรี นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ได้รับเงินรางวัล 4,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 : นางสาวปิยนุช เปรินกุล นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ได้รับเงินรางวัล 3,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร

คุณเฉลิมชัย วงษ์นาคเพ็ชร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อินเตอร์ วอเตอร์ทรีทเม้นท์ จำกัด กล่าวถึงความเป็นมาของความร่วมมือกับมหาวิทยลัยขอนแก่น ว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ถือเป็นโจทย์สำคัญให้ทางบริษัทฯ และคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันพัฒนา ‘เครื่องกำเนิดก๊าซโอโซน ยี่ห้อ Prozone รุ่น Modified PZ7-2HO’ เพื่อใช้ในการกำจัดเชื้อโรคและไวรัสที่มีอนุภาคขนาดเล็ก วิธีการทำงานของเครื่องคือการนำออกซิเจนในอากาศเข้าไปทำปฏิกิริยาในเครื่อง จากนั้นจึงผลิตออกมาเป็นก๊าซโอโซน ซึ่งก๊าซโอโซนสามารถแทรกซึมในพื้นผิวที่ลึกและฆ่าเชื้อได้ดีในพื้นที่แบบระบบปิด ก่อนหน้านี้เราได้นำไปประยุกต์ใช้ในการฆ่าเชื้อหน้ากากนามัย วัสดุและชุด PPE ให้กับทีมแพทย์ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนาเครื่องเพื่อต่อยอดให้สามารถใช้ได้กับโรงแรม สำนักงาน หรือในครัวเรือนได้ในอนาคต แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องความเข้มข้นของก๊าซที่เหมาะกับลักษณะพื้นที่แบบปิด บริษัทจึงได้หารือร่วมกับฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเปิดเวทีให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์มาช่วยในการลดข้อจำกัดดังกล่าว ถือเป็นโอกาสที่จะนักศึกษาได้ฝึกและเตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักออกแบบมืออาชีพต่อไป”

       ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเสริมถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การนำของรองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีฯ และศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์ด้าน Research Transformation ที่มุ่งเน้นการผลักดันงานวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่หรือนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือดังกล่าว ผ่านการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมแบบ One Stop Service หนึ่งในนั้นคือศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Innovation Design Center) ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดโครงการประกวดร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ นอกจากเราจะได้เห็นศักยภาพนักศึกษาด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมืออาชีพแล้ว ความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติตลอดจนสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง”

 

เขียน : ณัฐกานต์ อดทน

ข้อมูลและภาพ : อรพรรณ สุวรรณวิจิตร

Scroll to Top