เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย อาจารย์แทนรัฐ คุณเงิน อาจารย์นรากร วรรณพงษ์ และอาจารย์บุษกร ปราบ ณ ศักดิ์ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการผลิตนักกฎหมายที่มีศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจ (Entrepreneurial Lawyer) จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ในยุคนิวนอร์มอล กับบทบาทของภาครัฐในการกำกับดำแลที่เอื้อต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล” ณ โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจาก 3 นักวิชาการชั้นนำระดับประเทศ ประกอบด้วย ดร.ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย ร่วมแสดงความคิดเห็นที่มีต่ออุตสาหกรรมการสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นหรือฟู้ดเดลิเวอรี่ ทั้งทิศทางและแนวโน้มการเติบโต ผลกระทบและความท้าทายต่าง ๆ ตลอดจนบทบาทของภาครัฐที่มีต่อการกำกับดูแลธุรกิจดังกล่าวให้เอื้อต่อการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น ผู้ประกอบการร้านอาหาร สื่อมวลชนและบุคคลที่สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
อาจารย์แทนรัฐ คุณเงิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอบทความวิชาการในหัวข้อ “บริการจัดส่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทย : ทำความเข้าใจรูปแบบของอุตสาหกรรม ผลกระทบ และอนาคต” โดยระบุว่า ปัจจุบันฟู้ดเดลิเวอรี่หรือการจัดส่งอาหารออนไลน์ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมากเริ่มหันมาใช้แอฟพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภคเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากมีความจำเป็นต้องจัดหาช่องทางที่จะช่วยชดเชยยอดขายที่หายไปจากลูกค้าหน้าร้าน โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีร้านอาหารขนาดกลางและขนาดเล็กสมัครเข้าร่วมการใช้งานแพลตฟอร์มบริการส่งอาหารอย่างน้อย 20,000 ร้านต่อสัปดาห์ในช่วงของการล๊อคดาวน์ โดยผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นอย่างไลน์แมนระบุว่ามีจำนวนร้านอาหารเพิ่มขึ้นกว่า 15,000 ร้านภายในเวลาเพียง 10 วัน จากปกติต้องใช้เวลาหลายเดือนขณะที่ฟู้ดแพนด้ามียอดคำสั่งซ้อเพิ่มขึ้น 20 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหลังการพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของออเดอร์สั่งอาหารในช่วงปลดล๊อค นอกจากนี้ ธุรกิจดังกล่าวยังก่อให้เกิดการสร้างงานและรายได้ให้กับคนขับนับหลายแสนรายอีกด้วย
การเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ยังทำให้เกิดประเด็นสำคัญที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก นั่นคือ รูปแบบการดำเนินธูรกิจที่ถูกมองว่าอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันหรือการกีดกันทางการค้า ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการกำหนดแนวปฏฺบัติต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อาทิ การประกาศของกระทวงพาณิชย์ให้บริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์เป็ฯสินค้าและบริการควบคุม รวมถึงการจัดทำร่างประกาศ “แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร” โดยสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ สขค. เป็นต้น
“ในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย เราคาดหวังที่จะเห็นการสร้างสภาวะการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อส่งเสริมเสรีภาพทางการค้าและก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรูปแบบของเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งถือเป็นช่องทางแห่งยุคสมัยที่มีศักยภาพอย่างสูงในการสร้างการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบ ในขณะเดียวกัน ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงการสร้างสมดุลระหว่าง 4 องค์ประกอบของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ได้แก่ ผู้ให้บริการแอฟพลิเคชั่น ร้านอาหาร คนขับ และผู้ใช้บริการด้วยเช่นกัน” อาจารย์แทนรัฐ คุณเงิน กล่าว
ดร. ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีถาโถมเข้ามาในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจในทุกมิติ ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากนวัตกรรมเหล่านั้น และความเปลี่ยนแปลงนี้ก็มาพร้อมกับโอกาสและความเสมอภาคที่เพิ่มขึ้น โดยทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับรายใหญ่ได้ ทั้งนี้ ดร.ปริญญ์ ได้กล่าวถึงบทบาทของกฎหมายในเศรษฐกิจยุคใหม่ว่า “ในอุตสาหกรรมที่เกิดใหม่ เช่น ฟู้ดเดลิเวอรียังคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกมาก ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและผู้เล่นต่างๆ ดังนั้น กฎหมายที่เข้ามาควบคุมเร็วเกินไปหรือกำหนดกรอบที่ตายตัวเกินไปอาจขัดขวางการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ จำกัดขีดความสามารถในการแข่งขัน และอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมได้ กฎหมายจึงควรต้องมีความคล่องตัวและเอื้อให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรม เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาพรวมต่อไป”
ขณะที่ รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ ให้ความเห็นว่า ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีเปรียบเสมือนกลยุทธ์ด้านช่องทางการขายของผู้ประกอบกิจการที่ช่วยให้ร้านค้ามีทางเลือกมากยิ่งขึ้นในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ผู้ประกอบการหลายรายมองว่าธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีทำให้ร้านค้าต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็เหมือนกับว่าร้านค้าจ่ายเงินเพื่อซื้อจำนวนลูกค้าที่จะมองเห็นร้านไปพร้อมกับการจ้างบริการส่งของ ไม่ต่างจากการจ่ายค่าเช่าร้าน หรือเช่าพื้นที่ในฟู้ดคอร์ท หากแต่เป็นการเช่าร้านบนพื้นที่โลกเสมือนจริง แน่นอนว่าเมื่อร้านค้ามีต้นทุนในการจ่ายค่าเช่าพื้นที่เดิมอยู่แล้ว ก็อาจจะทำให้พวกเขามีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่หากเราหันมาใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นส่วนหลักของการประกอบกิจการด้วย เช่น ธุรกิจคลาวด์คิทเช่น (Cloud Kitchen) ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน ก็อาจจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนในจ่ายค่าเช่าในพื้นที่ ซึ่งอยากให้ภาครัฐได้มองการแข่งขันจากมุมเหล่านี้ด้วย
“ในมุมของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่ต้องการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี เมื่อมีต้นทุนในลักษณะใหม่เกิดขึ้น เช่น ค่าส่วนแบ่งรายได้ (GP) หรือค่าโฆษณา จึงควรคำนึงถึงต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งหมดในการกำหนดราคาค่าอาหารให้ครอบคลุมต้นทุนนั้นด้วย เราต้องไม่ลืมว่าการขายอาหารสำหรับรับประทานในร้าน ซื้อกลับบ้าน และฟู้ดเดลิเวอรี มีประโยชน์แก่ลูกค้าและต้นทุนที่ต่างกัน ดังนั้น เราอาจต้องพิจารณาว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้เหมาะกับผู้ประกอบการทุกคนหรือไม่ เช่น ถ้าร้านเราขายดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเช่าพื้นที่ในห้างก็ได้ ส่วนผู้ประกอบการที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ไม่ต้องการหาลูกค้าเพิ่มแต่ต้องการเพียงส่งอาหาร ก็มีทางเลือกอื่นในการส่งเช่นกัน” รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ กล่าวเสริม
ด้าน รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของภาครัฐในการกำกับดูแลธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีว่า ในทุกการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดผลกระทบไม่ว่าในทางลบหรือทางบวก ภาครัฐต้องเข้ามากำกับดูแลเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรม แต่ต้องไม่ล้ำเส้นของการดำเนินธุรกิจและการสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค “ธรรมเนียมในการดำเนินธุรกิจบางอย่าง เช่น ข้อตกลงเป็นกรณีพิเศษ (Exclusive dealings) ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกหรือผิดในตัวของมันเอง แต่ต้องดูผลที่ตามมาในข้อเท็จจริงว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่ธรรมแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือผู้ให้บริการแอปพลิเคชันรายอื่นๆ จริงหรือไม่ อย่างไร ข้อกฎหมายไม่ควรกำหนดรายละเอียดตายตัว แต่ควรกำกับดูแลเป็นกรณีที่เปิดกว้าง เพราะในทางปฏิบัติแล้วมีความหลากหลายในรายละเอียดของการดำเนินธุรกิจอยู่มาก”
หลังจากนั้น ดร.ปริญญ์ ได้กล่าวสรุปว่า “ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีเป็นแค่เพียงการเปิดมิติหนึ่งของบริการที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเท่านั้น อนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นยังคงมีศักยภาพอีกมากจากการใช้ประโยชน์บิ๊กดาต้าและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ราคาถูกลง รวดเร็ว ปลอดภัย รวมถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม ประเทศไทยมีโอกาสในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เราจึงควรต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว ทั้งในมุมของผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ออกกฎหมายด้วยเช่นกัน”
Faculty of Law, KKU, holds a forum on directions of food delivery in Thailand – the government’s role and digital economy development –by 3 famous academics
https://www.kku.ac.th/8015