ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม มข.แนะเทคนิคออกแบบ “สร้างบ้านรับมือน้ำท่วม” เช็กลิสต์ไว้วางแผนเพื่ออนาคต

จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหาโลกร้อนที่สะสมมานาน ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก พายุเข้า น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมครั้งใหญ่ กลายเป็นภัยพิบัติที่คนไทยต้องเผชิญบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นทุกปี สร้างความเสียหายแก่อาคาร บ้านเรือน และทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก อาจถึงเวลาที่ต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารบ้านเรือนเพื่อรับมืออุทกภัยและลดความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยความรู้ทางสถาปัตยกรรมศาสตร์

“ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษเรียนรู้การอยู่ร่วมกับน้ำมาตั้งแต่โบราณ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางที่ออกแบบบ้านยกใต้ถุนให้น้ำไหลผ่าน ทำให้คนอยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้โดยไม่เสียหาย ขณะที่บ้านสมัยใหม่ในพื้นที่เดียวกันมีการสร้างบ้านใต้ถุนกั้นผนังไว้ใช้งาน ขวางการไหลของน้ำ จนเมื่อเกิดน้ำท่วมบ้านหลายหลังต้านแรงน้ำไม่ไหวจนพังลง”

ผศ.ดร.ชำนาญ บุญญาพุทธิพงศ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 สะท้อนมุมมองการออกแบบอาคารบ้านเรือนเพื่อรับมืออุทกภัยว่า วงการสถาปนิกหาแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง โดยเรียนรู้จากภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก และภูมิปัญญาของไทยมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีหรือสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่เฉพาะน้ำท่วมเท่านั้น แต่ภัยพิบัติอื่น ๆ ทั้งแผ่นดินไหว หรือฝุ่นควัน การออกแบบอาคารก็เริ่มมีแนวทางการป้องกันหรือแก้ไขที่เป็นโจทย์จากเจ้าของอาคารมากขึ้นตามพื้นที่ภัยพิบัติต่าง ๆ


แนะแนวทางประเมินลักษณะน้ำท่วม สู่การออกแบบอาคารบ้านเรือนลดความเสียหาย

สำหรับการออกแบบเพื่อรับมือน้ำท่วมนั้นต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ทั้งในด้านระดับความรุนแรง และระยะเวลาในการท่วม ยกตัวอย่าง น้ำท่วมแบบฉับพลันแต่ชั่วคราว หรือน้ำรอการระบาย หากเกิดขึ้นเป็นประจำ ระดับน้ำไม่สูงมาก สิ่งที่จะช่วยรับมือน้ำท่วมได้ คือ การสร้างกำแพงหรือแนวกั้นน้ำเข้าอาคารบ้านเรือน หรือการทำ Flood Gate ในพื้นที่อย่างโรงแรมหรือสถานที่สำคัญ หรือใช้กระสอบทรายช่วยกั้นน้ำ รวมถึงใช้ปั๊มน้ำควบคู่กันไปด้วย และสิ่งสำคัญ คือ ต้องมีการติดตั้งวาล์วกันย้อนของท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากข้างนอกไหลย้อนเข้ามาในบ้าน และป้องกันสัตว์มีพิษต่าง ๆ ได้อีกด้วย


ส่วนพื้นที่ที่มีน้ำท่วมรุนแรง เป็นน้ำที่ไหลบ่าจากที่สูงมาท่วมอาคารบ้านเรือนเป็นวงกว้าง เช่น จังหวัดเชียงใหม่หรือหนองคาย มีกระแสน้ำไหลแรง น้ำท่วมไม่สูงมาก หรืออาจท่วมสูงแต่ไม่นาน ก็ควรสร้างอาคารบ้านเรือนที่มีโครงสร้างแข็งแรง ไม่ควรขวางทางน้ำ เพราะอาจทำให้บ้านหรืออาคารพังได้ ข้อแนะนำคือ ควรเปิดพื้นที่ใต้ถุนหรือชั้นล่างให้น้ำไหลผ่านได้ไม่ขวางทางน้ำ ยกปลั๊กไฟ สวิตช์ไฟให้อยู่ที่สูงไว้ก่อน

Freepik

สำหรับพื้นที่ปลายน้ำ อย่างกรุงเทพฯ ที่เคยท่วมหนักในปี 2554 หรือจังหวัดอุบลราชธานีที่ปีก่อน ๆ มีน้ำท่วมสูงมากและท่วมขังเป็นเวลานาน เป็นเรื่องยากที่จะป้องกันไม่ให้น้ำเข้าสู่ตัวบ้านหรืออาคารได้ ดังนั้น จึงควรออกแบบอาคารบ้านเรือนโดยใช้วัสดุที่คงทนและแช่น้ำได้ จึงไม่ควรเป็นไม้อัด ทั้งในส่วนของโครงสร้าง พื้น ผนัง หรือแม้แต่ประตู หน้าต่างที่อาจจะบวมจากน้ำจนทำให้ต้องเปลี่ยนใหม่หลังน้ำท่วม ขณะเดียวกันชั้นล่างควรเลือกเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาะสม โดยอาจแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ 1 คือ เฟอร์นิเจอร์ที่ทนน้ำได้เมื่อน้ำลดก็นำมาทำสีใหม่ใช้งานต่อได้ หรืออีกรูปแบบคือเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้วัสดุน้ำหนักเบาที่สามารถขนย้ายได้ง่ายยกไปที่สูงได้

“นอกจากนั้นวัสดุผิวของพื้น ผนัง ต้องทำความสะอาดได้ง่าย เรื่องจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจะทำให้มีคราบโคลนติดอยู่ภายในบ้าน และอีกส่วนที่ช่วยได้คือการวางแผนติดโซลาร์เซลล์เพราะในช่วงที่น้ำท่วมนานไฟฟ้าจะถูกตัดทำให้ใช้งานไม่ได้นั่นเอง”

เทคโนโลยีและการออกแบบผังเมืองช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมระดับประเทศ


ผศ.ดร.ชำนาญ
ยังกล่าวถึงภาพรวมการออกแบบผังเมืองและการนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ภาพใหญ่ด้วยว่า มีกรณีศึกษาอย่างประเทศเนเธอแลนด์เป็นประเทศที่มีพื้นดินต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้มีวิธีจัดการน้ำตั้งแต่โบราณโดยใช้เนินดินกั้นน้ำควบคู่กับการใช้กังหันลมสูบน้ำออกไป เหมือนนาเกลือของไทย ทำมาหลายร้อยปี และปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีกั้นน้ำสามารถเปิดปิดกั้นน้ำทะเลเพื่อบริหารทรัพยากรน้ำในประเทศได้

อีกกรณีศึกษาคือ เวียนนา ประเทศออสเตรียที่มีปัญหาน้ำท่วม เขาใช้วิธีขุดแม่น้ำขนานกับแม่น้ำดานูบ เพื่อให้น้ำได้ระบายออกไปไม่เข้าเมือง ซึ่งต้องลงทุนมหาศาล แต่เมื่อคำนวณแล้วพบว่าคุ้มค่าเมื่อแลกกับความเสียหายทั้งเศรษฐกิจและทรัพย์สินของประชาชนในประเทศ หรือโตเกียวที่มีอุโมงค์ยักษ์ในการระบายน้ำเพื่อไม่ให้เข้ามาในโตเกียว ขณะที่ประเทศไทยก็มีการศึกษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าในอนาคตก็จะได้เห็นเทคโนโลยีต่าง ๆ มาแก้ไขปัญหานี้ แต่เรื่องนี้นับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนกันไปเป็นองคาพยพ ทุกภาคส่วนรวมถึงมหาวิทยาลัยเองก็ต้องศึกษาวิจัยและเรียนรู้ประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ การเรียนการสอนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีแบบฝึกหัดให้นักศึกษาได้ทดลองแก้ไขปัญหาภัยพิบัติเป็นปกติ หรือมีโจทย์ออกแบบให้นักศึกษาได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของพื้นที่ที่แตกต่างกันไป เช่น การออกแบบอาคารในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมก็เป็นหนึ่งในผลงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในระดับปริญญาตรี เพื่อหาทางออกของปัญหาด้วยการออกแบบ

ขณะเดียวกันนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศ และรางวัลชมเชยจากการประกวดออกแบบบ้านพักอาศัยในโครงการประกวด Nova Stage of Designers Award ณ งาน Nova BUILD EXPO 2023 ซึ่งเป็นการออกแบบบ้าน เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่น้ำท่วม และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ด้วย

“คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของเรามุ่งเน้นสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีจินตนาการ และมีหลักการที่พร้อมเผชิญกับการแก้ไขปัญหาจากโจทย์ใหม่ ๆ ที่ท้าทายตลอดเวลา จนกลายเป็นบัณฑิตคุณภาพ ด้วยหลักสูตรที่หลากหลาย ทั้งสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน ออกแบบกราฟิก ออกแบบโปรดัก เซรามิก ออกแบบผ้าและแฟชัน ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก หากใครสนใจด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมในอนาคตเพื่อรับมือภัยพิบัติเหล่าคณาจารย์ก็พร้อมสนับสนุนและยินดีต้อนรับสู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น”

Scroll to Top