วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มข. เดินหน้าผสานความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย และร่วมบรรยายภายในงาน Thailand Digital Talent Summit

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ. ดร.สิรภัทร เชียวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ได้เดินหน้าผสานความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) และ ร่วมบรรยายในหัวข้อ “Accelerated Intelligence in Computing Curriculum at Khon Kaen University 2025” ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ Beijing University of Post and Telecommunications และ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายในงาน “Thailand Digital Talent Summit” ที่จัดขึ้นโดยบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงแรงงาน และพันธมิตรชั้นนำ ภายใต้แนวคิด “สร้างศูนย์กลางบุคลากรดิจิทัลนำประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลอัจฉริยะเพื่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อผลักดัน พัฒนา ผลิตกำลังคน และบ่มเพาะบุคลากรดิจิทัล โดยบริษัท หัวเว่ย ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งใหม่กับพันธมิตรที่หลากหลาย อาทิ

บริษัท หัวเว่ย ได้ดำเนินการเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกกับภาครัฐบาลและนโยบาย โดยการผนึกกำลังกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงแรงงาน เป้าหมายของการร่วมมือครั้งนี้คือการฝึกอบรมบุคลากรด้านไอซีทีให้ได้รวม 10,000 คน, นักพัฒนาด้านคลาวด์และ AI จำนวน 5,000 คน, และวิศวกรด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีก 2,000 คนภายในปี พ.ศ. 2568 และผสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 20 แห่ง เพื่อสร้างองค์ความรู้ผ่านหลักสูตรนักพัฒนาด้านคลาวด์และด้านดิจิทัลของหัวเว่ย ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพบุคลากรและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

ในด้านการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านวิชาการ บริษัท หัวเว่ย ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ อาทิ Beijing University of Post and Telecommunications, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเปิดตัวโครงการใหม่ ที่มุ่งผลักดันการถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากรในโลกการทำงานในอนาคตเป็นเป้าหมายหลักของการร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้เยาวชนและบุคลากรในอนาคต มีความพร้อมในการเผชิญกับความท้าทายทางเทคโนโลยี

นอกจากนี้บริษัท หัวเว่ย ยังมอบทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนผ่านโครงการแข่งขันด้านไอซีทีในปี พ.ศ. 2566-2567 โดยมอบ 9 รางวัลให้กับทีมผู้ชนะใน 3 สาขา ได้แก่ ด้านเครือข่าย (Network) ด้านคลาวด์ (Cloud) และด้านการประมวลผล (Computing) ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 1.4 ล้านบาท โดยการมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมและการสร้างอาชีพก็เป็นสิ่งที่บริษัท หัวเว่ย ให้ความสำคัญ โดยได้ร่วมกับพันธมิตร 15 รายในธุรกิจองค์กร, คลาวด์, และพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมนุษย์ จัดมหกรรมจัดหางาน โดยเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาที่ได้รับการฝึกอบรมและประกาศนียบัตรจากบริษัทฯ มีโอกาสเข้าถึงงานในสาขาต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการพัฒนาทักษะและสร้างเส้นทางอาชีพที่มั่นคงต่อไป

Scroll to Top