ดวงดาวที่อยู่บนดิน แปลงดอกคัตเตอร์ ของ นศ.สาขาเกษตรนวัตกรรม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ในช่วงเย็นของทุกวัน ก่อนพลบค่ำ ท่านที่ขับรถหรือวิ่งออกกำลังกาย บนถนนสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อมาถึงบริเวณอุทยานเกษตร จะสังเกตเห็นแปลงปลูกดอกไม้ ที่ประดับด้วยหลอดไฟกว่าร้อย ๆ ดวง อย่างสวยงาม หลายคนคงนึกสงสัยว่า มันคืออะไร? วันนี้เรามีคำตอบ
ก่อนอื่นจะพาไปทำความรู้จักกับ หลักสูตรเกษตรศาสตรบัณฑิต “สาขาวิชา เกษตรนวัตกรรม” คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นต้นคิด นำนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการศึกษาโครงการ เพื่อหารายได้ไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เล่าว่า นักศึกษาเกษตรนวัตกรรม จะมีการเรียนไปพร้อมกับการฝึกปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย นับเป็นหลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวง อว. หรือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นโครงการผลิตบัณฑิตพันธใหม่ เป็น 1 ใน 2 หลักสูตร ที่เป็นหลักสูตรชั้นนำ ของคณะเกษตรศาสตร์ ได้ให้การสนับสุนอย่างต่อเนื่อง นักศึกษาที่เรียนสาขานี้ จะได้เรียนในชั้นเรียน 2 ปี และฝึกงานควบคู่กันไปด้วย เป็นลักษณะการบูรณาการการทำงาน กับการเรียนรู้เข้าด้วยกัน
สำหรับโครงการนี้ เป็นโครงการปลูกดอกคัตเตอร์ (ไม้ตัดดอก) ณ แปลงปลูก บริเวณอุทยานเกษตร มข. เพื่อหารายได้ ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น และทำการศึกษาแผนธุรกิจในการส่งขาย และเชิงท่องเที่ยวด้วย เป็นโครงการร่วมของนักศึกษา ชั้นปีที่ 2 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย “ดอกคัตเตอร์” ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solidago Canadensis* วงศ์ : Asteraceae* คัตเตอร์ เป็นดอกไม้ที่นิยมจัดเข้าช่อ เพื่อมอบเป็นของขวัญ หรือของแทนใจในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานจบการศึกษา ถึงแม้ว่าการเน้นช่อของดอกคัตเตอร์อาจจะไม่โดดเด่นเท่ากับไม้ดอกหลักอื่นๆที่มักมีขนาดใหญ่ แต่มีความหมายที่พิเศษไม่แพ้ใคร ยอมให้ดอกไม้อื่นๆเด่นกว่า จึงได้ชื่อว่า “ดอกไม้แห่งการแอบรัก”
ด้าน นายชนะโชติ ตันหง่าย (ต้น) และเพื่อน กล่าวว่า ต้นคัตเตอร์ เป็นต้นไม้ที่ตอบสนองต่อช่วงแสง เป็นกลุ่มพืชที่มีวันสั้น คือพืชที่ออกดอกเมื่อช่วงกลางวันสั้นกว่าช่วงวันวิกฤติ เช่น เบญจมาศ และคัตเตอร์ เนื่องจากสภาพอากาศที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในช่วงกลางวันในหน้าหนาว เพียง 10 ชม. เริ่มมืดแล้ว เพราะฉะนั้นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยยืดระยะเวลาในการเกิดของดอกคัตเตอร์ คือ ต้องเปิดไฟ LED วอร์ม ไวท์ ซึ่งเป็นไฟแสงสีส้ม เพื่อจำลองช่วงเวลากลางวัน ให้ยาวขึ้น ต้นคัตเตอร์จะเจริญเติบโตทางด้านกายภาพ มีลำต้นที่ยาวและสูงขึ้น เมื่อตัดดอกคัตเตอร์ส่งขายจะได้ราคาดีขึ้นด้วย โดยใช้หลอดไฟ LED วอร์ม ไวท์ ทั้งหมด 232 ดวง มีการกำหนดระยะเวลาของโครงการ 3 เดือน ตังแต่เริ่มไถแปลง ไปจนถึงเก็บเกี่ยว คือประมาณช่วงวันที่ 13 ต.ค.63 – 15 ม.ค.64
สำหรับการเปิดปิดระบบไฟ LED นั้น เป็นระบบอัตโนมัติแบบเปิด 3 ชม. ปิด 1 ชม. ซึ่งจะเริ่มเปิดเองในเวลา 18.00 น. ไปจนถึง เวลา 21.00 น. โดยกำหนดระยะเวลาไว้ที่ 3 ชม. จากนั้นระบบไฟจะปิดลงแบบอัตโนมัติ เป็นระยะเวลา 1 ชม. และจะเปิดไฟระบบอัตโนมัติเอง ในเวลา 22.00 น. น. ไปจนถึง เวลา 01.00 น. ระบบไฟจะปิดลงแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นลักษณะนี้จำนวน 3 รอบ ต่อหนึ่งคืน
จากนวัตกรรมทางการศึกษา ของนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สู่แลนด์มาร์คสวย ๆ ในการถ่ายภาพ ในช่วงแห่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จ คือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 13-14 ธ.ค.63 ที่ใกล้จะมาถึง ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์ค สุดชิค ในการถ่ายภาพแล้ว บรรดาเหล่าบัณฑิต และญาติ รวมถึงช่างภาพ ไม่ควรพลาด!
ขอบคุณข้อมูลจาก
รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ มข.
นายชนะโชติ ตันหง่าย (ต้น)
นายธีภพ ธรรมมา (ฟอส)
นางสาว เบญจวรรณ์ หล้าเพชร (ฟ้า)
นางสาว พัชรพร หงสวินิตกุล (เนย)
เนื้อหา/ ภาพ: บริพัตร ทาสี