ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก THE World University Rankings 2021 มข.โดดเด่นด้านการสอน-สิ่งแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ ติดอันดับ 3 ของประเทศ

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563 สำนักจัดอันดับ Times Higher Education (THE) ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก   ซึ่งพบว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ติดอันดับจากการจัดอันดับในปีนี้เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา

โดย สำนักจัดอันดับ Times Higher Education (THE) ได้ชี้แจง ขั้นตอนและวิธีการในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของโลกประจำปี 2564 ว่าสถาบันการศึกษาต่างๆเป็นผู้ให้ข้อมูลซึ่งฝ่ายผู้จัดอันดับจะนำไปดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจังและเข้มงวดเพื่อการจัดอันดับ สามารถอธิบายได้ถึงวิธีการในการได้มาซึ่งข้อมูลของสถาบันจำนวน กว่า 1500 สถาบัน แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำเป็นตาราง

ตารางจัดอันดับ Times Higher Education เป็นตารางข้อมูลหนึ่งเดียวในโลกที่ตัดสินมหาวิทยาลัยวิจัย โดยตรวจสอบพันธกิจของแต่ละมหาวิทยาลัยในด้านการสอน การวิจัย การถ่ายทอดองค์ความรู้ และภาพลักษณ์ในระดับนานาชาติ  ผู้จัดอันดับใช้เกณฑ์ตัวชี้วัดสมรรถนะ 13 ตัวชี้วัด ซึ่งจะนำไปสู่ ผลการเปรียบเทียบที่ครอบคลุม เชื่อถือได้สำหรับนักศึกษา นักวิชาการ ผู้นำของมหาวิทยาลัย ภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาล

ตัวชี้วัดสมรรถนะ มีด้วยกัน 5 ด้านคือ การสอน (หมายถึงสิ่งแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้) การวิจัย (ปริมาณ รายได้ และชื่อเสียง) การอ้างอิง (อิทธิพลของงานวิจัย) ภาพลักษณ์ในระดับนานาชาติ  (ครอบคลุมบุคลากร นักศึกษา และงานวิจัย) และเงินรายได้จากอุตสาหกรรม (จากการถ่ายทอดองค์ความรู้)

จากตัวชี้วัดต่างๆ พบว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผลการจัดอันดับที่โดดเด่นในด้านการสอน หรือการมีสิ่งแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ โดยติดอันดับ 3 ของประเทศ รองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ตามลำดับ ซึ่งตัวชี้วัดด้านการสอนประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อย ได้แก่ ชื่อเสียงจากการสำรวจ, อัตราส่วน บุคลากรต่อนักศึกษา, อัตราส่วนปริญญาเอกต่อปริญญาตรี, อัตราส่วนรางวัลระดับปริญญาเอกต่อจำนวนบุคลากรสายวิชาการ และเงินรายได้สถาบัน

ทั้งนี้ Times Higher Education (THE) เปิดเผยว่า การสำรวจชื่อเสียงทางวิชาการล่าสุด (ดำเนินการทุกปี) ซึ่งช่วยในการจัดอันดับ  ได้ดำเนินการตั้งแต่ พ.ย. 2562 ถึง ก.พ. 2563 เป็นการพิจารณาการเป็นที่ยอมรับในด้านการสอนและการวิจัย ผลที่ได้เป็นเชิงสถิติ ที่แสดงความหลากหลายของหลักสูตรที่เปิดและนักวิชาการที่มาจากทั่วโลก ข้อมูลปี 2563 นำไปรวม กับปี 2562 ซึ่งได้ข้อมูลมาทั้งหมดถึง กว่า 22,000 ชิ้น

นอกจากจะพิจารณาว่าสถาบันแต่ละแห่งให้ความเอาใจใส่พัฒนาที่จะเป็นนักวิชาการในอนาคตแล้ว จำนวนนักศึกษาวิจัยระดับหลังปริญญาตรีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบ่งบอกถึงการจัดการเรียนการสอนในระดับสูง ที่ดึงดูดนักศึกษามาเรียน และในขณะเดียวกันก็มีประสิทธิผลในการพัฒนาเขาเหล่านั้น  ตัวชี้วัดนี้ไนมาตรฐานเพื่ออธิบายลักษณะความหลากหลายของหลักสูตรมหาวิทยาลัยที่เป็นจุดเด่น และสะท้อนให้เห็นว่าปริมาณของรางวัลระดับปริญญาเอกนั้นแตกต่างไปตามสาขาวิชา

เงินรายได้สถาบันพิจารณาจากจำนวนบุคลากรสายวิชาการ และทำให้เป็นมาตรฐานเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันของกำลังซื้อ ซึ่งจะเป็นการบ่งบอกถึง สถานะโดยทั่วไปของสถาบัน และให้ภาพกว้างๆของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สถาบันมีให้นักศึกษาและบุคลากร

ที่มา

Scroll to Top