มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดการประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 11/2567 โดยมี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยร่วมการประชุม ณ ห้องสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ในการประชุมสภาครั้งนี้ได้มีมติอนุมัติการจัดซื้อเครื่องเร่งอนุภาคพลังงานสูง หรือเครื่องฉายแสงสำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็ง มูลค่า 260 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน 130 ล้านบาท และเงินรายได้มหาวิทยาลัย และ คณะแพทยศาสตร์อีก 130 ล้านบาท เพื่อทดแทนเครื่องเดิม ที่ชำรุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้ป่วยมะเร็งในภูมิภาค อย่างมีนัยสำคัญ
ผศ.นพ.คมสันต์ ธำรงค์อนันตสกุล รองหัวหน้าสาขาวิชาฝ่ายรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นอธิบายถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเครื่องฉายรังสีรุ่นใหม่ว่า เครื่องนี้ได้รับการออกแบบด้วยเทคโนโลยีล่าสุด มีระบบการตรวจสอบภาพของผู้ป่วยขณะฉายรังสี (Image Guided Radiotherapy) พร้อมระบบจำกัดลำรังสีขนาดเล็กเพียง 2.5 มิลลิเมตร ซึ่งแม่นยำกว่าเครื่องทั่วไปที่มีขนาด 5-10 มิลลิเมตร ทำให้สามารถรักษามะเร็งได้แม่นยำมากขึ้น และลดผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียง
“นวัตกรรมของเครื่องฉายรังสีใหม่นี้ช่วยให้เราสามารถทำการรักษาแบบศัลยกรรมด้วยรังสีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณลำตัว ซึ่งแต่เดิมเราทำได้เฉพาะบริเวณศีรษะและลำคอเป็นหลัก” ผศ.นพ.คมสันต์ กล่าว “เทคโนโลยีใหม่นี้ยังอาจช่วยลดจำนวนครั้งในการฉายรังสีสำหรับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก จากเดิมที่ต้องฉาย 35-40 ครั้ง เหลือเพียง 5 ครั้ง ซึ่งช่วยลดภาระการเดินทางและค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยได้อย่างมาก”
รศ.พญ.วรินทร พุทธรักษ์ หัวหน้าสาขาวิชารังสีวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงประสิทธิภาพการรักษาว่า การติดตั้งเครื่องฉายรังสีเครื่องใหม่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการจากปัจจุบันที่รักษาผู้ป่วยได้ 1,300 รายต่อปี เป็น 1,600 รายต่อปี พร้อมลดระยะเวลารอคิวจาก 4 เดือนเหลือเพียง 2 เดือน นับเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยในภูมิภาคเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้รวดเร็วขึ้น
“การลดระยะเวลารอคิวเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษามะเร็ง เพราะระยะเวลาที่รอคิวนานอาจส่งผลให้โรคลุกลามมากขึ้น การมีเครื่องฉายรังสีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วขึ้น เพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” รศ.พญ.วรินทร กล่าว
การจัดซื้อครุภัณฑ์ครั้งนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะแพทยศาสตร์ในการก้าวสู่การเป็นศูนย์ Medical Hub ตามที่ รศ.นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวส คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ได้วางแผนยุทธศาสตร์ไว้ มุ่งยกระดับมาตรฐานการรักษามะเร็งแบบครบวงจร ทั้งการวินิจฉัย การผ่าตัด และการรักษาด้วยรังสี พร้อมขยายการให้บริการครอบคลุมถึงกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
“การพัฒนาศักยภาพด้านการรักษาโรคมะเร็งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของคณะแพทยศาสตร์ เรามุ่งมั่นที่จะยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ในทุกมิติ ทั้งด้านการรักษา การวิจัย และการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้ผู้ป่วยในภูมิภาคได้รับการดูแลที่มีมาตรฐานระดับสากล” รศ.ภัทรพงษ์ กล่าว
นอกจากการจัดซื้อเครื่องฉายรังสีแล้ว คณะแพทยศาสตร์ยังมีแผนพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาแนวทางการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาให้ทัดเทียมกับสถาบันชั้นนำระดับโลก
การลงทุนในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ชั้นนำระดับภูมิภาค พร้อมทำหน้าที่เป็นที่พึ่งด้านสุขภาพให้กับประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดการประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ที่ https://council.kku.ac.th/post/7086